3/28/2019

​ทางออกของ Brexit กับทิศทางหุ้นยุโรป

​​​​​​

ประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของอังกฤษ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “เบร็กซิต (Brexit)" (เป็นคำสนธิระหว่าง “Britain" และ “Exit") เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนปกคลุมตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 ประชาชนชาวอังกฤษ ประมาณ 15.6 ล้านคน (จากผู้มาลงคะแนนทั้งหมด 30 ล้านคน) ลงมติให้ อังกฤษแยกตัวออกจาก EU แต่เป็นการชนะอย่างฉิวเฉียดคิดเป็นสัดส่วน 51.9% ต่อ 48.1% โดยในวันที่ 29 มี.ค. 62 จะเป็นวันครบกำหนดที่อังกฤษต้องออกจากการเป็นสมาชิกของ EU อย่างเป็นทางการ (Brexit date) หลังจากที่ได้ออกกฎหมายเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 60 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อรองกับ EU เพื่อให้ได้ “ข้อตกลงการแยกตัว" ภายในระยะเวลา 2 ปี

“ข้อตกลงการแยกตัว" ที่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์รูปแบบของทางออกที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้ทางเลือก ได้แก่

1.) Hard Brexit หรือ No Deal Brexit  คือ อังกฤษออกจาก EU อย่างเต็มรูปแบบ เด็ดขาดและทันที

2.) Soft Brexit คือ อังกฤษออกจาก EU ในทางการเมือง แต่ยังคงอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (Trade Union)

3.) การลงประชามติอีกครั้ง (Second Referendum)  ด้วยแนวคิดที่ว่าอังกฤษควรอยู่ EU ต่อเหมือนเดิม

 

ทางออกแบบไหน มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด?

ด้าน Goldman Sachs มองโอกาสเกิดกรณี No-deal Brexit ไว้ที่ระดับ 15% ขณะที่มองโอกาสที่สำหรับกรณียกเลิก Brexit โดยสิ้นเชิงไว้ที่ระดับ 35% และมองโอกาสที่จะขยายระยะเวลา Brexit ออกไปไว้ที่ระดับ 50% ขณะที่ทาง Allianz Global Investors วิเคราะห์ว่าหากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษรับข้อเสนอเรื่องแผนข้อตกลงการแยกตัวออกจาก EU ของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะนับเป็นข่าวดีต่อตลาด แต่เรื่องยังคงไม่จบง่ายๆ เพราะรูปแบบของความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือสังคมยังคงคลุมเครือ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า  ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีเวลาเจรจาจนถึงสิ้นปี 63  ทั้งนี้อาจเห็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาหลังจากที่หุ้นอังกฤษยังอยู่ในสถานะ Underweight ของผู้ลงทุนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 62 นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ส่งจดหมายไปยังนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป เพื่อขอขยายกำหนดเวลา Brexit ออกไปอีก 3 เดือน จากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค. 62 และระบุว่ารัฐบาลจะนำข้อตกลง Brexit เข้าสู่การพิจารณาและการลงมติเป็นครั้งที่ 3 ในรัฐสภาอังกฤษ แต่ตัวแทนเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU จะไม่อนุมัติให้อังกฤษเลื่อนเวลา Brexit หากอังกฤษไม่มีแผนการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการขั้นต่อไป


กองทุนหุ้นยุโรป ยังน่าสนใจหรือไม่

ไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นแบบใด แต่ทุกทางออกยังคงมีความไม่แน่นอนปกคลุมอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ความชัดเจนยังเลือนลาง การลงทุนในหุ้นยุโรปย่อมมีความผันผวนสูง บลจ.กสิกรไทยจึงแนะนำผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุน หรือ ควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีสไตล์การจัดพอร์ตแบบยืดหยุ่น ที่ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับน้ำหนักสัดสัวนการลงทุนได้ทันกับสถานการณ์ ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจอังกฤษจะได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและยาว แต่หากดูในแง่หุ้นบริษัทจดทะเบียนของอังกฤษ ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่มียอดขายและกำไรมาจากทั่วโลก อาทิ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น การอ่อนค่าของเงินปอนด์ย่อมส่งผลบวกต่อบริษัทกลุ่มนี้ ในแง่ระดับราคาหุ้นที่ซื้อขายถูกกว่าหุ้นโลก 30% นับเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี และ Forward PE อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และถ้าหากมีข่าวดีหรือผลการเจรจาเป็นไปในทิศทางบวก อาจเห็นการฟื้นตัวของหุ้นอังกฤษได้ต่ออีกหลังจากที่ตั้งแต่ต้นปีดัชนี FTSE 100 ปรับตัวบวกเกือบ 7% ก็อาจเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนหุ้นยุโรป โดยเฉพาะกองทุนที่มีน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นของอังกฤษ

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

จัดทำโดย  ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)





Yes
3/28/2019