​​​​​​​​​​​​​​​​นโยบายการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ​​


​1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทยจำกัดและหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ
(KAsset and Responsible Investment)

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (“บลจ.กสิกรไทย") ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเงินลงทุนในนามของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินลงทุน มีแนวทางการลงทุนในบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าทั้งทางด้านการเงินและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน บริษัทจัดการมีการนำเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) รวมทั้งหลักจริยธรรม มาประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนและการสร้างพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทภายใต้การบริหาร บลจ.กสิกรไทย ตระหนักดีว่าความเชื่อถือและไว้วางใจของลูกค้าและสาธารณชนที่มีต่อบริษัทเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาชีพด้านการจัดการลงทุน เราเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายคือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า บนหลักการที่ผลประโยชน์ของลูกค้ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก


2. การกำกับดูแล (Oversight)

คณะกรรมการบริษัทของ บลจ.กสิกรไทย ได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Committee) กำหนดแนวทางการจัดการ กำกับดูแล ทบทวนนโยบายและอนุมัติรายงานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่เปิดเผยเผยแก่สาธารณะและหน่วยงานภายนอก รวมถึงติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ต่อการดำเนินธุรกิจและการบริหารพอร์ตการลงทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.กสิกรไทย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำแนวปฏิบัติด้าน ESG มาปรับใช้ในทุกฝ่ายงานภายใน บลจ.กสิกรไทยอย่างมีประสิทธิผล โดยทางคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนจะมีการรายงานสรุปการดำเนินงานด้าน ESG ตลอดจนความคืบหน้าของพัฒนาการเทียบกับเป้าหมายในการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง


3. ขอบเขตการพิจารณามิติด้าน ESG และการให้ความสำคัญของแต่ละประเด็น ตลอดจนผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน (ESG Considerations, Priorities, and Sustainability Outcome)

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)

บลจ.กสิกรไทยมุ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง บริษัทจัดการมีการประเมินกิจการที่ลงทุนโดยมีการคำนึงถึงความสามารถในการควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยประเด็นหลักที่ทางบริษัทจัดการให้ความสำคัญมีดังต่อไปนี้

    • การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    • ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ
    • การประหยัดพลังงาน
    • มลภาวะ
    • การจัดการขยะและของเสีย
    • ความหลากหลายทางชีวภาพ


ด้านสังคม (Social)

บลจ.กสิกรไทยมุ่งให้ความสำคัญด้านการจัดการทุนมนุษย์ของกิจการต่างๆ ที่ลงทุนรวมถึงการตั้งเป้าหมายทางสังคมตลอดจนการวัดผลกระทบด้านสังคม โดยประเด็นหลักในการพิจารณา อาทิเช่น

    • สิทธิมนุษยชน: ทางบริษัทจัดการมีความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชนของกิจการที่ลงทุนที่สอดคล้องไปตามหลักสากล นอกเหนือไปจากกฏหมายและข้อปฏิบัติของประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ อาทิเช่น ตามกรอบของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) หรือ ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization Declaration of Fundamental Principles and Rights at Work: ILO) อาทิเช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานและอาชีพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน เป็นต้น
    • การดำเนินธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติส่งผลกระทบจากการดำเนินงานละเมิดสิทธิชุมชน
    • คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค


การกำกับดูแลกิจการ (Governance)

แนวทางการกำกับดูแลกิจการและการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของ บลจ. กสิกรไทย อยู่บนพื้นฐานของหลักการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีดังต่อไปนี้

    • ความยึดมั่นในคุณธรรม (Integrity)
    • ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency)
    • ความเป็นอิสระ (Independence)
    • ความรับผิดชอบ (Responsibility)
    • ภาระความรับผิดชอบ (Accountability)
    • ความยุติธรรม (Fairness)


บลจ.กสิกรไทย มีการกำหนดนโยบายภายในสำหรับการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและการดำเนินการที่เหมาะสมหากมีประเด็นที่กังวล รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการมีการพิจารณาอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นและการมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้น (Engagement) โดยทาง บลจ. กสิกรไทยจะมีการสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอตัวอย่างเช่น ในการประชุมผู้ถือหุ้น หากทางบริษัทจัดการมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้สิทธิออกเสียง “คัดค้าน" ทางบริษัทจัดการจะติดต่อกับบริษัทที่ลงทุนนั้นๆ ก่อนที่จะมีการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อหารือถึงประเด็นที่กังวลและอธิบายเหตุผลในการออกเสียงที่ขัดแย้งกับข้อแนะนำของฝ่ายบริหาร การปฏิบัติดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทางบริษัทจัดการได้สื่อสารและชี้แจงข้อกังวลต่อบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจัดการจะจัดให้มีกระบวนการติดตามผล หรือการดำเนินการที่เหมาะสมต่อบริษัทดังกล่าวหากจำเป็น นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทยยังให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การต่อต้านการให้หรือรับสินบน และการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ


ผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Outcome)

บริษัทจัดการเชื่อว่าการนำเอาปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาประกอบการลงทุนจะสามารถช่วยสร้างผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนในเชิงบวก (Positive outcome) และลดผลกระทบในเชิงลบ (Negative outcome) ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้สามารถเชื่อมโยงสู่เป้าหมายตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ทำให้สามารถเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นรวมถึงโอกาสในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางบริษัทจัดการสนับสนุนกิจการที่ลงทุนในการดำเนินการเพื่อไปสู่ SDGs ขององค์การสหประชาติทั้ง 17 เป้าหมาย


4. สรุปแนวทางการนำปัจจัยด้าน ESG มาปรับใช้ในกระบวนลงทุน (ESG Integration) แบ่งตามประเภทของสินทรัพย์

​การนำปัจจัยด้าน ESG มาปรับใช้ในกระบวนการลงทุน (ESG Integration Process)

บลจ.กสิกรไทยมีการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้พิจารณาร่วมด้วยในกระบวนการลงทุน ตั้งแต่การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การคัดเลือกหลักทรัพย์ ไปจนถึงการสร้างพอร์ตโฟลิโอ โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG (ESG Data) จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การเข้าเยี่ยมชมบริษัทและการพบผู้บริหาร แบบสอบถาม รายงานต่างๆ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ อาทิ รายงาน 56-1 One Report รายงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน รายงานการกำกับดูแลกิจการ รายงานประจำปี ข้อมูลที่เปิดเผยพร้อมงบการเงินรายไตรมาส วาระการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงมีการสมัครรับข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัยด้าน ESG ที่มีการรวบรวมโดยผู้ให้บริการข้อมูลภายนอก (External Data Service Providers) เช่น S&P Global Market Intelligence, LSEG Workspace, Bloomberg, Institutional Shareholder Services (ISS) เป็นต้น

บลจ.กสิกรไทย มีการปรับปรุงกรอบวิธีพิจารณาให้คะแนนและจัดอันดับการประเมินด้าน ESG ของกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถสะท้อนพัฒนาการด้านการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกิจการที่ลงทุน และแนวโน้มผลกระทบของแต่ละ ปัจจัย ESG โดยมีการให้คะแนนและการจัดอันดับ ESG สำหรับทุกกิจการที่กองทุนภายใต้การจัดการสามารถลงทุนได้ (Investment Universe) ทั้งจากแบบการการประเมินภายในและการใช้ข้อมูลและคะแนนประเมินด้าน ESG ของผู้ให้บริการข้อมูลภายนอกที่น่าเชื่อถือ โดยมีการประเมินครอบคลุมในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อสังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นต้น และมีการให้น้ำหนักแต่ละปัจจัย ESG ที่แตกต่างกันตามความสำคัญเนื่องจากผลกระทบจากแต่ละปัจจัยมีไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (Materiality Assessment) ทั้งนี้ บริษัทจัดการมีการจัดทำการประเมินคะแนนและจัดอันดับปัจจัย ESG สำหรับกิจการที่ลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และมีการปรับปรุงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของแต่ละประเด็นด้าน ESG ในกิจการที่ลงทุน

ผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์มีการนำผลคะแนนและการจัดอันดับในด้าน ESG ของกิจการที่สามารถลงทุนได้ มาใช้พิจารณาร่วมในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยสะท้อนในขั้นตอนการกำหนดสมมติฐานในการคัดเลือกหลักทรัพย์ จัดทำประมาณการกำไร การประเมินมูลค่ากิจการ และการสร้างพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสม ในกรณีที่เกิดประเด็นด้าน ESG ที่อาจกระทบต่อการดำเนินงาน หรือมูลค่าของกิจการที่ลงทุน ผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์จะนัดหมายผู้บริหารเพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และจุดยืนต่อประเด็น ESG นั้นๆ (Engagement) เพื่อประเมินท่าทีของกิจการและแนวโน้มผล กระทบด้าน ESG ต่อมูลค่ากิจการในอนาคต เพื่อใช้ประกอบในกระบวนการตัดสินใจลงทุน


ก) กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกในตราสารทุน (Active Equity Strategy)

ปัจจัยด้าน ESG มีการประเมินในระดับบริษัทหรือผู้ออกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการประเมินคะแนนและการจัดอันดับด้าน ESG จากโมเดลการประเมินภายใน และจากผู้ให้บริการข้อมูลและวิจัยภายนอกที่น่าเชื่อถือ และนำมาใช้พิจารณาประกอบในทุกกลยุทธ์การลงทุน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนไปจนถึงการสร้างพอร์ตการลงทุน โดยปัจจัยที่ใช้ในการประเมินขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละกิจการและอุตสาหกรรมของกิจการนั้นๆ ที่อาจส่งผลกระทบด้านชื่อเสียง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และ/หรือฐานะการเงินต่อกิจการ ซึ่งทำให้มูลค่าของผู้ถือหุ้นถดถอยลง นอกจากนี้ บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG ประกอบกับการใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) จะช่วยให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว


ข) กลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ (Passive Equity Strategy) สำหรับการลงทุนโดยตรง

การนำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาร่วมในกระบวนการลงทุน สำหรับการลงทุนโดยตรงในกลยุทธการลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ ขึ้นกับกรอบนโยบายและวัตถุประสงค์การลงทุนที่ได้ระบุไว้สำหรับแต่ละกองทุน อย่างไรก็ตามบริษัทจัดการไม่มีนโยบายงดเว้นการลงทุนในหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบางหลักทรัพย์ที่มีประเด็นด้าน ESG (Exclusionary Policy) ในกลยุทธ์นี้ เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนคือทำให้ผลตอบแทนมีค่าเบี่ยงเบนจากดัชนีชี้วัดน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ด้าน ESG เกิดขึ้น ในกรณีที่กลยุทธ์นี้มีการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ บริษัทจัดการจะมีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีการลงทุนในกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกในตราสารทุน (Active Equity Strategy) กล่าวคือการนำมาหารือในคณะทำงานพิจารณาตราสารทุน และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการลงทุน และคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนตามลำดับตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี โดยบริษัทจัดการจะใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) ผ่านการทำ Engagement กับบริษัท และใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และสำหรับบางกิจการที่ไม่อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ บริษัทจัดการจะกระทำการในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) ผ่านการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ


ค) ตราสารหนี้ในและต่างประเทศ ​(Domestic/ForeignFixed Income)

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจัย ESG ถือเป็นส่วนหนึ่งใช้ประกอบกระบวนการตัดสินใจลงทุนและกระบวนการ สร้างพอร์ตลงทุน โดยกระบวนการพิจารณานั้นมีการพิจารณาทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ

ตราสารหนี้ภาครัฐ
ปัจจัยด้าน ESG ถูกประเมินในระดับประเทศ (Sovereign) โดยมีการพิจารณาประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของรัฐบาลและการกำกับดูแล การทุจริตคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ถูกจัดอันดับโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้รวมถึงข้อมูลการจัดอันดับจะถูกรวบรวมโดยผู้ให้บริการข้อมูลด้าน ESG ภายนอกที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ทางบริษัทจัดการจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงด้าน ESG ในแต่ละประเทศโดยนำข้อมูลมาเปรียบเทียบตามกลุ่มคะแนน และอาจเทียบกับแนวโน้มในอดีตของแต่ละประเทศด้วย

ตราสารหนี้ภาคเอกชน ตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ภาครัฐ และเงินฝากในสถาบันการเงิน

บริษัทจัดการจะมีการรวมการประเมินด้าน ESG เข้ากับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของผู้ออกตราสารแต่ละราย มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อระบุปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร โดยจะนำข้อมูล ESG จากผู้ให้บริการข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้ ร่วมกับการดำเนินการประเมินตามแบบฟอร์มการประเมิน ESG ภายในของบริษัทจัดการ โดยใช้ข้อมูลที่เปิดเผยโดยผู้ออกตราสาร รวมถึงการเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหาร ทั้งนี้ การประเมินปัจจัยด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เครดิตภายในของบริษัทจัดการ โดยใช้ผลการประเมินและจัดอันดับด้าน ESG จะถูกนำมาพิจารณาประกอบกับการประเมินด้านปัจจัยพื้นฐานของผู้ออกตราสารแต่ละรายเพื่อใช้ในการกำหนดอายุและวงเงินลงทุน


ง) กลยุทธ์การลงทุนในผ่านกองทุนรวมดัชนี (Indirect Investment through ETFs)

สำหรับการประเมินปัจจัยด้าน ESG ในกองทุนรวมดัชนี บริษัทจัดการจะทำการประเมินปีละครั้งที่ระดับของผู้จัดการกองทุนภายนอก (Master Fund Manager for ETFs) โดยใช้แบบสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น นอกจากนี้ บริษัทจัดการยังมีการประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงของคะแนนรวมด้าน ESG ของแต่ละกองทุน ETF และคะแนนในกลุ่มย่อยในประเด็นแต่ละด้านปัจจัย ESG ซึ่งรวบรวมมาจากบริษัทจัดอันดับด้าน ESG ภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง


จ) กองทุนรวมฟีดเดอร์ (Feeder Funds)

การประเมินด้าน ESG จะมีการพิจารณาที่ระดับผู้จัดการกองทุนเมื่อมีการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก (Master Fund Manager) กระบวนการประเมินจะดำเนินการปีละหนึ่งครั้งโดยฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน โดยใช้แบบสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากผู้จัดการกองทุนภายนอก โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลเฉพาะของบริษัทจัดการกองทุนภายนอกนั้นๆ จนถึงกลยุทธ์ของแต่ละกองทุน ซึ่งจะมีการพิจารณาในเชิงลึกถึงมิติด้าน ESG ของแต่ละกลยุทธ์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทจัดการสามารถประเมินได้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวมีกระบวนการด้านการลงทุนด้าน ESG ที่เหมาะสมหรือไม่ และกระบวนการเหล่านี้มีการปรับปรุงและพัฒนาการอย่างไร


ฉ) ​กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund)/โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ บลจ. กสิกรไทยเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) หรือ ทรัสตี (Trustee) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ปัจจัยด้าน ESG ได้ถูกนำมาพิจารณาตั้งแต่ในกระบวนการการคัดเลือกและการทำ Due diligence ในการพิจารณารับทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนและทรัสตี โดย ESG เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินโดยรวม เช่น การตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน


แนวทางการดำเนินงานด้าน ESG มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะ/ประเภทของโครงการ เช่น การปรับปรุงอาคาร การก่อสร้าง การคัดเลือกผู้จัดการโครงการและผู้เช่า โดยประเด็นในด้านพิจารณาด้าน ESG อาทิเช่น การบำรุงรักษาอาคารเพื่อให้อยู่ในสภาพดี การจัดการน้ำเสียและขยะ ความสัมพันธ์กับชุมชนและการพัฒนาชุมชน กระบวนการจัดการพนักงาน และการขอรับใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ในการดำเนินการดังกล่าว ผู้จัดการกองทุนและทรัสตีจะให้การสนับสนุนต่อผู้จัดการโครงการและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยทำการวิเคราะห์ด้าน ESG ตลอดระยะเวลาการจัดการของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REIT ดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้จัดการโครงการภายใต้กองทุนอสังหาริมทรัพย์และผู้จัดการ REIT จะได้รับการคัดเลือกโดยการพิจารณานโยบายด้าน ESG ของกิจการนั้นๆ ประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น การรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงาน การจัดการน้ำเสีย กิจกรรมกับผู้ใช้อาคาร ประวัติการดำเนินงานย้อนหลัง และนโยบายด้านการจัดซื้อ เป็นต้น โดยผู้จัดการกองทุนและทรัสตีมุ่งสนับสนุนให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายด้าน ESG รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล


5. แนวทางเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Approach)

บลจ.กสิกรไทยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลลบต่อการลงทุน บริษัทจัดการจะจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพยายามจัดการความเสี่ยงที่มีนัยสําคัญต่อการลงทุนและธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นที่บริษัทจัดการให้ความสำคัญในการทำ Engagement กับบริษัทที่ลงทุน


เนื่องจากความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสําคัญในการระบุผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลการดําเนินงานของกิจการที่ลงทุนต่างๆ บลจ.กสิกรไทยจึงได้ลงนามเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) และมีการปรับแนวปฏิบัติของทางบริษัทจัดการให้สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับแนวทางดังกล่าวด้วย

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อบริษัทที่ลงทุนจะมีการนำมาพิจารณาร่วมในกระบวนการลงทุนและการสร้างพอร์ตลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน ESG โดยคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน มีหน้าที่รายงานสรุปผลการดำเนินการโดยภาพรวมต่อคณะกรรมการบริษัท


6. แนวทางการยกเว้นการลงทุน(Exclusionary Policy)- สําหรับการลงทุนโดยตรงเท่านั้น

​ก. บริษัทที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดําเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและฝ่ายบริหารไม่สามารถหาวิธีแก้ไขหรือจัดการปัญหาในเชิงรุก หรือ ดําเนินการปฏิรูปที่จําเป็นจะถูกติดตามอย่างใกล้ชิดและอาจถูกคัดออกจากรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ (Investment Universe) ของบลจ.กสิกรไทย

ข. บริษัทที่เกี่ยวข้อง/ผลิต/จัดจําหน่ายหรือจําหน่ายสินค้าในประเภทผลิตภัณฑ์ต่อไปนี้จะไม่ถูกพิจารณาให้อยู่ใน Investment universe

    • อาวุธประเภท Controversial weapons เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ อาวุธนิวเคลียร์
    • ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personnel landmines)
    • ระเบิดลูกปราย และ อาวุธยุทโธปกรณ์ (Cluster bombs or munitions)
    • อาวุธปืน (Firearms)
    • การทําสัญญาทางทหาร (Military contracting)
    • ความบันเทิงสําหรับผู้ใหญ่ (Adult entertainment)

ค. บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อาทิ เหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล จะถูกจัดให้มีการติดตามพัฒนาการรวมถึงกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

7. การใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership Activities)

ก) ​แนวทางการมีส่วนร่วม (Engagement Approaches)

บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการมีส่วนรวมและการสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน โดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานของกิจการได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น


ในกรณีประเด็นที่กังวลอาจส่งกระทบในทางลบต่อกิจการที่ร้ายแรง บริษัทจัดการอาจเพิ่มระดับในการติดตามโดยนำเสนอประเด็นข้อกังวลไปยังคณะกรรมการบริษัทของกิจการที่ลงทุน

โดยส่วนใหญ่บริษัทจัดการเลือกที่จะสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนเป็นการส่วนตัว (Private Discussion) เนื่องจากบริษัทจัดการมีความเชื่อมั่นในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารในกิจการที่ลงทุนและเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดและผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้าง สำหรับการดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หลังจากเพิ่มระดับในการติดตาม ทางบริษัทจัดการอาจมีการร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) หรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (Collective Engagement) ตามความเหมาะสมเพื่อให้กิจการที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวลของบริษัทจัดการและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

บริษัทจัดการได้ให้ความร่วมมือกับนักลงทุนสถาบันในประเทศรายอื่นผ่านทางองค์กรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เช่น สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (“AIMC") สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (“TLCA") สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (“IOD") รวมถึงองค์กรกำกับดูแล เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET") สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“SEC") และธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT") ทั้งนี้บริษัทจัดการยังได้มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) และ/หรือให้ข้อเสนอแนะในเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลหรือประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ อนึ่งทางบริษัทจัดการยังส่งตัวแทนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ESG Collective Action ที่มีการจัดตั้งขึ้นในนามของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และร่วมลงนามการใช้หลักเกณฑ์ Negative List ของกลุ่ม นักลงทุนสถาบัน กับนักลงทุนสถาบันรายอื่นในนามสมาคมจัดการลงทุน

การเพิ่มระดับในการติดตามในกิจการที่ลงทุน (Escalation)

หากประเด็นข้อกังวลยังไม่ได้รับการแก้ไขจนเป็นที่น่าพอใจ หลังจากเข้าทำ Engagement อย่างเต็มความสามารถแล้ว ทางบริษัทจัดการอาจเพิ่มระดับในการติดตามตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้

    • ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัท
    • พิจารณาร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นตามความเหมาะสม
    • งดการให้ความสนับสนุนแก่กรรมการ
    • คัดค้านข้อเสนอของฝ่ายจัดการ
    • สนับสนุนข้อเสนอของผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี
    • เผยแพร่ข้อกังวลต่อสาธารณะ
    • เสนอรายชื่อกรรมการใหม่ต่อคณะกรรมการบริษัท
    • เลือกที่จะไม่ลงทุนหรือยกเลิกการลงทุนในบริษัทนั้นๆ


การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการมีส่วนร่วม (Engagement Topics)

ประเด็นในการเข้าทำ Engagement อาจแตกต่างกันตามสถานการณ์/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากนัยสำคัญของประเด็นที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจที่แต่ละบริ ษัทดำเนินการ อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดการได้จัดลำดับการให้ความสำคัญของประเด็นหลักด้าน ESG ในการเข้าทำ Engagement ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นพื้นฐาน (Common issue and significant) และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนส่วนใหญ่ ดังนี้

1)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนทางธรรมชาติ (Climate change and natural sustainability)

2) ทุนมนุษย์ (Human Capital)

3) กลยุทธ์ของบริษัท จุดมุ่งหมาย และการปรับตัวในการดำเนินงานเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง (Company strategy, purpose and resilience)

4) คุณภาพของคณะกรรมการบริษัท (Board quality)

แนวทางการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการกับหน่วยงานภาครัฐ

​ทางบริษัทจัดการเชื่อว่าการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การมีส่วนร่วมหารือและการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการเองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ บริษัทจัดการสนับสนุนการในการให้ความเห็นและการมีส่วนร่วมหารือกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำหนดร่าง กฎหมายหรือนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ส่วนรวม โดยกิจกรรมเหล่านี้ควรส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและส่งเสริมผลลัพธ์ที่ดีในด้านความยั่งยืนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

แนวทางการมีส่วนร่วมกับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (Engagement Approach with Other Key Stakeholders)

บริษัทจัดการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะกับทางหน่วยงานกำกับดูแล และกิจการที่ลงทุน การมีส่วนร่วม (Engagement) ครอบคลุมไปถึงการหารือหรือสื่อสารกับ ผู้จัดการลงทุนภายนอก ผู้ให้บริการภายนอก กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน หรือ องค์กรต่างๆ ที่สามารถให้ความคิดเห็นได้ในประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งนี้ต้องอยู่บนหลักการบนความเหมาะสม โปร่งใสและผลประโยชน์ส่วนรวมและความยั่งยืนในระยะยาวเป็นสำคัญ


ข) การใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Voting)

บลจ. กสิกรไทยมีความเชื่อมั่นว่าการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นส่วนสำคัญของการจัดการด้านการลงทุน ทางบริษัทจัดการได้กำหนดนโยบายภายในสำหรับการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น โดยหลักเกณฑ์ยังได้มีการพิจารณาถึงมุ่งเน้นที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในประเด็นที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับ ESG ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยได้มีการทบทวนนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้การใช้สิทธิออกเสียงเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีประสิทธิผล และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทยยังได้สมัครใช้บริการงานวิจัยสำหรับคำแนะนำในการออกเสียงประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Research Service) จากหน่วยงานภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบและอ้างอิงกับแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นสากล อย่างไรก็ดี บริษัทจัดการสงวนสิทธิในการใช้วิจารณญาณของตนเองในการใช้สิทธิออกเสียงแทนผู้ถือหน่วยและลูกค้า


ค) โครงการให้ยืมหลักทรัพย์ ​(Securities Lending Program)

เนื่องจากบางกองทุนของบลจ.กสิกรไทยอาจเข้าร่วมในโครงการให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทจัดการจึงได้จัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

    • บลจ.กสิกรไทยจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่ไม่อนุญาตให้ยืม และปรับปรุงรายชื่อเป็นรายวัน โดยคำนึงถึงการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นของหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ
    • กรณีหลักทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการให้ยืม มีกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้น ทางบริษัทจัดการมีนโยบายที่จะแจ้งให้ผู้ให้ยืมเรียกหลักทรัพย์คืนเพื่อมาใช้สิทธิ (Recall) ทุกครั้งอย่างเต็มความสามารถ เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์นั้นๆ


8. การบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (Conflicts of interest related to Responsible Investment)

​บลจ.กสิกรไทยตระหนักถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ เช่น การใช้สิทธิออกเสียงในวาระเลือกตั้งกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารที่เป็นลูกค้าของบริษัทจัดการในการประชุมผู้ถือหุ้นในกิจการที่ลงทุน หรือการเข้าทำ engagement กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดร่างนโยบายสาธารณะ เป็นต้น โดย บลจ.กสิกรไทยได้มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานที่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การจัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ ที่มีหลักการชัดเจนและโปร่งใสมาประกอบการพิจารณาวาระในการประชุมผู้ถือหุ้น การเปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง ตลอดจนนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงแนวทางการทำแนวทางการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการกับหน่วยงานภาครัฐ