
Highlight :
• เศรษฐกิจภาพรวมของเวียตนามเติบโตต่อเนื่องและเติบโตสูงสุดในกลุ่ม ASEAN Emerging Market
• โครงสร้างประชากรหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีประชากรวัยทำงาน สูงถึง 50.5 ล้านคน
• เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) สนับสนุนการส่งออก
• การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนกว่า 5% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
• แม้ว่าเวียดนามจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2021 แต่คาดว่าภาคการส่งออกจะฟื้นตัวหลัง COVID-19 ในประเทศบรรเทาลง โดยตลาดคาดว่าจะพลิกกลับมาเกินดุลในปี 2022
มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม :
ตลาดหุ้นเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง
1. แรงสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกที่แข็งแกร่ง การฟื้นตัวของการบริโภคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ยังคงไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนามจะเติบโต 6.8% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า ซึ่งสูงสุดในกลุ่ม ASEAN Emerging Markets (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม)
2. รัฐบาลเวียดนามทุ่มงบประมาณกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021 (คิดเป็น 5% ของ GDP) เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงที่สุดในอาเซียน ตลอดจนเห็นชอบงบประมาณการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างปี 2021-2025 ของประเทศรวมทั้งหมด 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันในภูมิภาคและมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045
3. เวียดนามมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานสูงถึง 61% และมีการเปลี่ยนโครงสร้างอาชีพจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อหัว และการอุปโภค-บริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น
4. อัตราการเติบโตของตลาดหุ้นเวียดนามโดดเด่นในภูมิภาค โดยคาดว่าจะเติบโต +21.8% ในปีนี้ และ +25% ในปีหน้า แถมระดับราคาหุ้นก็ยังไม่แพงที่ PE Multiple 11.7x และ 9.2X ตามลำดับ ตลอดจนหากถูกปรับสถานะจาก Frontier เป็น Emerging Markets และก้าวสู่การเป็น The Rising Star of Asia ก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อีกมาก
มุมมองของ KAsset
ต่อการลงทุนในหุ้นเวียดนาม
KAsset ยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะกลาง-ยาว ต่อการลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อการส่งออก หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการขยายตัวของประชากรวัยทำงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริการจะฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป
ตลาดคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนามยังเติบโตในระดับสูง (เป็นรองแค่ประเทศฟิลิปปินส์) ที่ +21.8%/25% ในปี 2022/23 สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค
ตลาดคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นเวียดนามใน ปี 2022 มากที่สุด คือ Financials / Real Estate / Utilities / Consumer Discretionary / Consumer Staples
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่นักลงทุนควรจับตา
1. Margin Lending ของนักลงทุนรายย่อยยังอยู่ในระดับสูง หากตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมีนัยยะ จะทำให้หุ้นบางส่วนถูกบังคับขายเพิ่มแรงกดดันในตลาดขาลง แต่ด้วยสภาพคล่องของตลาดที่สูงขึ้นในที่ผ่านมาจะช่วยบรรเทาแรงกดดันระยะสั้นไปได้
2. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซีย อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม เพราะมีการพึ่งพาภาคการส่งออกสูง แต่เวียดนามมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลก จึงทำให้การส่งออกของเวียดนามยังเติบโตได้
3. ความผันผวนของค่าเงินเวียดนามด่อง อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนจากภายนอก อย่างไรก็ตาม เงินทุนสำรองที่สูงเป็นประวัติการณ์ และภาคส่งออกที่แข็งแกร่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินเวียดนามด่องได้
โดย คุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA, Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"
