HIGHLIGHTS :
• จีนไม่มีสัญญาณ Recession และปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ เหมือนประเทศอื่นๆ
• จับตาปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ หลังการเยือนไต้หวันของประธานสภาสหรัฐฯ
• ปัญหาในภาคอสังหาฯยังคงไม่คลี่คลาย จากข่าวที่ผู้ซื้อบ้านทยอยไม่ชำระผ่อนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ
• Zero Covid Policy ยังคงมีอยู่ แต่การควบคุมการแพร่ระบาดยืดหยุ่นมากขึ้น
• มองตลาดหุ้นจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้วเเละอยู่ในภาพของการฟื้นตัว ระดับราคาปัจจุบันเป็นโอกาสให้ทยอยเข้าสะสม
ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯเเละยุโรป ขณะที่อีกหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้น
เเต่สำหรับประเทศจีนนั้น ยังคงไม่มีสัญญาณที่จะเกิด Recession และยังไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางจีนสามารถดำเนินนโยบายการเงินเเบบผ่อนคลายที่สวนทางกับประเทศอื่นได้ อีกทั้งระดับราคาหุ้นถูก และคาดการณ์การเติบโตของกำไรปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 10 – 14% เทียบกับกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นจีนกลายเป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่กระทบความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้ยังกล้าๆกลัวๆที่จะเข้าลงทุน ทาง บลจ.กสิกรไทย มองอย่างไรต่อประเด็นต่างๆเหล่านี้บ้าง
1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ หลังการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
เป็นอีกประเด็นที่ทำให้นักลงทุนกังวลในช่วงนี้ เนื่องจากการที่ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อจีน ทำให้จีนมีการตอบโต้กับการมาเยือนในครั้งนี้ทั้งการประณามและการซ้อมรบในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวัน แต่ยังไม่ได้มีการออกมาตรการที่กระทบกับการค้าและการลงทุนโดยตรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในกรอบจำกัด ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความขัดแย้ง แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างก็ยังสามารถเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้ โดยทั่วโลกจะยังคงต้องจับตาต่อไปว่าจะลุกลามขยายผลออกไปหรือไม่
2. ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน
ภาคอสังหาฯของจีนยังไม่คลี่คลาย หนึ่งในประเด็นที่สร้างความกังวลให้ตลาดในช่วงที่ผ่านมาคือ ข่าวที่ผู้ซื้อบ้านทยอยไม่ชำระผ่อนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จกว่า 100 โครงการ ใน 50 เมือง จากความกังวลต่อสภาพคล่องของบริษัทที่อาจทำให้บริษัทไม่สามารถก่อสร้างบ้านได้เสร็จสมบูรณ์ แม้ประเด็นการไม่ชำระผ่อนบ้านจะยังเป็นเพียงจำนวนน้อย (0.01% อ้างอิงจาก J.P. Morgan 21 ก.ค. 2565) แต่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หากความเชื่อมั่นของผู้ผ่อนบ้านยังลดลง
อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะสามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวไม่ให้ขยายวงกว้าง และไม่ทำให้สถานการณ์ในตลาดอสังหาฯแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. นโยบาย Zero Covid และแนวทางควบคุมในอนาคต
แม้ประเทศจีนจะยังคงเป้าหมายโควิด-19 เป็นศูนย์อยู่ แต่การควบคุมการแพร่ระบาดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Dynamic Lockdown) เช่น ปิดแค่บางจุดและไม่ปิดนานเท่าเดิม เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติที่สุด เน้นการตรวจรวดเร็วและครอบคลุม ล่าสุดยังได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางด้วยการลดระยะเวลาการระงับเที่ยวบินที่พบผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 แสดงถึงความต้องการกระตุ้นการเดินทางระหว่างประเทศ สะท้อนว่ารัฐบาลจีนพยายามปรับนโยบายให้เหมาะสม และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
4. มาตราการควบคุมธุรกิจในจีน
ในปีที่ผ่านมากลุ่มเทคฯและอสังหาฯในประเทศจีน โดนรัฐบาลกดดันอย่างหนัก แต่ บลจ.กสิกรไทย มองว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดการกับกรณีที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ได้มีการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างมากเพิ่มเข้ามาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นธรรมชาติของรัฐบาลจีน ที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี และจะเข้มงวดในช่วงที่มีการเติบโตสูง
ดังนั้น บลจ.กสิกรไทย จึงคาดว่าจะไม่เห็นการออกมาตรการควบคุมธุรกิจที่รุนแรงในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
5. ความเสี่ยงที่ GDP อาจจะไม่ถึงเป้า 5.5%
ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. แต่ก็เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีของทั้งภาคการผลิตและบริการในเดือน มิ.ย.
การที่แนวโน้มการเติบโตของ GDP ปีนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามเป้า 5.5% จะยิ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้ GDP เติบโตได้ตามเป้า และลดความเข้มงวดในการออกกฎระเบียบลง โดยแม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมา แต่รัฐบาลก็ทยอยออกมาตรการย่อยเรื่อยๆ และน่าจะเห็นผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจได้หลังไตรมาส 3 เป็นต้นไป
แม้ประเด็นข้างต้นจะทำให้ตลาดหุ้นจีนยังมีความผันผวนระหว่างทาง แต่ทาง บลจ.กสิกรไทย มีมุมมองว่าตลาดหุ้นจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้วเเละอยู่ในภาพของการฟื้นตัว คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้้ ตลาดหุ้นจีนจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้้น จากอีกหลายปัจจัย เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทยอยเข้าสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว
บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
