12/27/2022

วิกฤต หรือ โอกาส? เมื่อดัชนี VNI ปรับตัวลงกว่า 32% ตั้งแต่ต้นปี

​​​​​​​​​HIGHLIGHTS :
• หุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงกว่า 32% ตั้งแต่ต้นปี
• จากความกังวลเรื่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอัตราเงินเฟ้อ ที่กระทบต่อการลงทุนทั่วโลก  
• รวมไปถึงความกังวลเรื่องการปั่นหุ้น และ Anti-corruption ทำให้มีผลกระทบต่อภาคอสังหาฯ และธนาคารพาณิชย์ 
• การที่รัฐบาลเข้ามาปราบปราม เรื่องการปั่นหุ้นและการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างจริงจัง จะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น
• การฟื้นตัวของ GDP เวียดนาม คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศ
• ในระยะยาว บลจ.กสิกรไทย ยังมีมุมมองเชิงบวกในหุ้นเวียดนาม จากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ และระดับ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ​

คุณรู้หรือไม่? ดัชนี VNI ปรับตัวลดลงกว่า 32% แต่ต้นปี 2565 โดยทำ All time high ที่ 1500 จุด จากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่งกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก แล้ว การปรับตัวลงของตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้ มีสาเหตุหลักเริ่มมาจากมาตรการของทางการที่ออกมาปราบปรามเรื่องการปั่นหุ้นและ Anti-corruption ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ทำให้มีผลกระทบเป็นผลกว้างต่อตลาดหุ้นในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ 

ข่าวการจับกุมประธานบริษัทอสังหาฯ Van Thinh Phat Group ทำให้เกิดเเรงเทขายหุ้นครั้งใหญ่ 
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปี 2018-2019 ตลอดจนมีข่าวลือว่ามีธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงขายจากนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีการใช้ Margin Loan ถูก Force Sell อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชี Margin ซึ่งเป็นบัญชีการกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกบังคับขายจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง 

โดยตลาดหุ้นได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแรงขายอย่างหนักอีกครั้งในเดือนกันยายน จากความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบ เริ่มจาก​

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 200bp ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน 
โดยปรับครั้งแรก 23 ก.ย. และครั้งที่สอง 25 ต.ค. 1565 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและเสถียรภาพของค่าเงินดอง ภายหลังจากเงินเฟ้อของเวียดนามปรับขึ้นทะลุ 4% ในเดือนตุลาคมและค่าเงินดองของเวียดนามก็อ่อนลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 

"อย่างไรก็ตาม ระดับเงินเฟ้อในเวียดนาม จะยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ถึงแม้ระดับเงินเฟ้อเดือนกันยายน จะปรับขึ้นมาแตะขอบบน ของกรอบเป้าหมายของรัฐบาลที่ 4% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ จะสามารถปรับลดลงได้ตามราคาพลังงานที่เริ่มมีการปรับลง"

และที่ผ่านมาในอดีต เวียดนามก็เคยผ่านช่วงเงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับสูง ถึง 5-6% มาแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางอย่างรวดเร็ว ถึง 2% ใน 2 เดือนที่ผ่านมา จะสะท้อนถึงการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ไปส่วนใหญ่แล้ว ​



ความกังวลต่อปัญหาความตึงตัวของสภาพคล่องทางการเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์
สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลเวียดนาม ที่ควบคุมการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนอย่างเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ภายหลังจากมีการทุจริต และนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยภาคอสังหาฯ และธนาคาร มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 70% ของหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 40% และกลุ่มธนาคารที่ 30% 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่าเกือบ 50trn ดอง ทำให้ตลาดมีความกังวล เรื่องการขาดสภาพคล่องของบริษัทเอกชน สำหรับดัชนี VN index กลุ่มสถาบันการเงิน มีน้ำหนักคิดเป็น 37% ในดัชนี ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาฯ ที่ 20% 

แรงเทขายของนักลงทุนรายย่อย 
ในตลาดหุ้นเวียดนาม นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนที่สูงกว่า 80% ของตลาด และมีการใช้ Margin loan อยู่ในระดับสูง ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ Margin loan เพิ่มเกือบ 5 เท่า ทำให้มีแรงเทขายจำนวนมาก เมื่อตลาดหุ้นมีการปรับตัวลง ประกอบตั้งแต่มีเหตุการณ์เรื่องปราบปรามการทุจริตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ในขณะที่มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวัน ก็ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ที่เกือบ 5 หมื่นล้านบาท เหลือในปัจจุบันไม่ถึง 2 หมื่นล้าน นอกเหนือจากนั้น การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เอาหุ้นไปเป็นหลักประกันกับ Broker เพื่อกู้ยืมเงิน ทำให้เมื่อราคาหุ้นมีการปรับลดลงมามาก ทำให้เกิดการบังคับขายหุ้นที่เป็นหลักประกันนั่นเอง

ความกังวลจากการที่ตลาดหุ้น Ho Chi Minh Stock Exchange (HOSE) ไม่ได้หลุดจากรายชื่อเป็นสมาชิกของ สหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (The World Federation of Exchanges - WFE) 
เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างควบรวม เข้ากับตลาดหุ้น Hanoi Stock Exchange ทำให้นักลงทุนสถาบันในบางประเทศ เช่น ไทย ไม่สามารถลงทุนใน ETF ของตลาดเวียดนามได้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนาม ได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกของ WFE เรียบร้อยแล้ว

ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย อาจส่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม 
เนื่องจากเวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างสูง (เกือบ 100% ของ GDP) ทำให้หลีกเลี่ยงใม่ได้ที่ จะได้รับผลกระทบหากโลกเกิดเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเวียดนามมีความได้เปรียบ เรื่องความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน ประกอบกับสงครามการค้า ระหว่างจีนกับอเมริกา ทำให้เวียดนาม ได้อานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตมาเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ทำให้ผลกระทบอาจจากเศรษฐกิจถดถอย ไม่รุนแรงตามที่คาดการณ์ 

"ถึงแม้ตลาดมองว่า GDP ของเวียดนามปี 2566 จะมีการเติบโตต่ำกว่าปี 2565 ทั้งนี้ในปี 2565 เวียดนามได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวจากการส่งออกจากฐานที่ต่ำ แต่ก็คาดว่า จะสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 6% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ" 

อนึ่งจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ถอดประเทศเวียดนาม ออกจากบัญชีเฝ้าระวังการบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation watchlist) ตามรายงานถึงรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ช่วยลดความเสี่ยงที่ จะถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าลดลงอย่างมีนัยยะ 

“ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มองว่าประเด็นใหญ่ที่เราต้องจับตามองของประเทศเวียดนามในขณะนี้ เป็นเรื่องปัญหาสภาพคล่อง” 

ซึ่งอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลร่วมด้วยในการแกปัญหา โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการมาช่วยเหลือในหลายรูปแบบ อาทิเช่น 

1) การออกตราสารหนี้ผ่านการปรับปรุงฎีกาฉบับที่ 65 (Decree 65) 
โดยฎีกาดังกล่าวจะช่วยลดความกังวล และแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระบบ โดยรายละเอียดที่สำคัญ ของข้อบังคับใช้ฉบับใหม่ คือ การเลื่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ ฎีกาฉบับที่ 65 ไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อที่จะผู้ที่จะเสนอขายหุ้นกู้และตลาดมีเวลาปรับตัวตามข้อบังคับใหม่ 

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ออกหุ้นกู้ ขยายระยะเวลาไถ่ถอน ไปได้มากที่สุด 2 ปี ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ ให้เห็นชอบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ มีเวลาเจรจาปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ และท้ายสุด คือ การอนุญาตให้มีการแปลงสภาพเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นสินทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ให้เข้ากับข้อกฎหมายปัจจุบัน 

โดยสรุปแล้ว ฎีกาฉบับปรับปรุงนี้ มีจุดประสงค์ ที่จะเพิ่มความโปร่งใสให้กับตลาดหุ้นกู้ และเพื่อที่จะปกป้องนักลงทุนในหลายๆ ด้าน และเพื่อที่จะให้เวลาสำหรับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมตัว ก่อนที่ข้อกฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ โดยในปัจจุบันการปรับปรุงฎีกาฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2566

2) ธนาคารกลางเวียดนามได้ออกมาประกาศเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่ออีก 1.5-2% 
โดยปรับใหม่เป็น 15.5-16% โดยจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใด โดยธนาคารที่มีสภาพคล่องที่สูงและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จะสามารถเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อ ได้มากกว่า เพื่อที่จะช่วยจัดการปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สำหรับบริษัทต่างๆ ในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้ 

3) ธนาคารกลางเวียดนามได้ส่งสัญญาณการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ
หลังจากการเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อ โดยมีการใช้สัญญาการซื้อคืน (repo) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากการที่ธนาคารกลาง ได้อัดฉีดเงินจำนวน 4 ล้านล้านด่องเข้าสู่สถาบัน จำนวน 7 แห่ง ผ่านการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน ธนาคารกลางยังอนุมัติให้ สถาบัน 4 แห่ง กู้ยืมเงินจำนวน 3 ล้านล้านด่อง เป็นระยะเวลา 91 วัน ซึ่งแสดงถึงความพยายามของธนาคารกลางที่ จะกระตุ้นสภาพคล่องในระยะยาว 

นอกเหนือจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่เข้ามาในเวียดนาม เป็นจำนวนมาก จะเป็นตัวกระตุ้นที่จะส่งเสริมค่าเงิน และสภาพคล่องของเงินด่อง และพัฒนาภาพเศรษฐกิจของเวียดนามต่อไป 

ปัจจุบัน ดัชนี VN Index ซื้อขายอยู่ที่ discount อย่างมาก โดย 2566 P/E 12 เดือนอยู่ที่ 9.5 เท่า (-2SD จาก P/E เฉลี่ย 5 ปี) ประมาณการ Bloomberg consensus โดยปัจจุบันตลาดมีการคาดการณ์ Earnings growth ในปี 2566 ที่ 12% โดยมีเป้าหมายดัชนีปลายปีที่ระดับ 1200 จุด

คำแนะนำการลงทุน
มุมมองในระยะสั้น : 
บลจ.กสิกรไทย คาดว่าตลาดยังมีความผันผวนอยู่ในระดับสูง และปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะยังคงกดดันผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเวียดนามต่อไป โดยคาดว่า จากมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลเวียดนามที่เริ่มทยอยออกมา ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ และผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนรายย่อยได้ต่อไป 

มุมมองในระยะกลางถึงระยะยาว : 
บลจ.กสิกรไทย ยังมีมุมมองเชิงบวก จากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับสูง และระดับ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ 

ทั้งนี้ มองว่าการเข้ามาปราบปรามเรื่องการปั่นหุ้นและการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ตลาดเวียดนามจะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

“โดยการฟื้นตัวของ GDP เวียดนาม คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศ”

นอกจากนี้ ในอนาคตตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสในการถูกปรับสถานะจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) สู่ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อีกมาก


บทความโดย คุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA
Chief Investment Officer, บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 27​​ ธ.ค. 2565

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
ลงทุน ไทย-เวียดนาม จะไปต่อ...หรือพอก่อน? >>Click
หุ้นตอบรับเชิงลบ หลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ย รวม 4.25% ในปีนี้ >>Click
เวียดนามระยะยาวยังน่าสนใจ จากหลายปัจจัยเอื้อต่อการขยายตัว >>Click​


Yes
12/27/2022