
-
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การบรรลุเป้าหมาย Net-zero ภายในปี 2050 เป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อป้องกันวิกฤตในอนาคต
-
การประชุม COP29 ที่บากู มุ่งเน้นการกำหนดเป้าหมายด้านภูมิอากาศ การจัดทำแผน NDC2025 และการเพิ่มศักยภาพของประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุข้อตกลงปารีสอย่างยั่งยืน
-
ก่อนหน้านี้มี 109 ประเทศเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในแผน NDC2020 คิดเป็น 80.9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แผน NDC2020 อาจไม่เพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5°C ภายในปี 2100 หลายประเทศยังคงต้องเพิ่มความมุ่งมั่น
-
การปรับปรุงแผน NDC2025 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอีกกุญแจสำคัญ ผ่านการจัดทำเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น พัฒนาเทคโนโลยีสะอาด สร้างความยืดหยุ่นในชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนความท้าทายที่เพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตามรายงานของ IPCC (AR6) ระบุว่าเป็นภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบทั้งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และฝนที่ตกหนักและบ่อยขึ้น
ในปี 2024 เป็นอีกปีที่พบเหตุการณ์รุนแรงหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น คลื่นความร้อนสูงที่ฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายนทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดการเรียนการสอน และยังมีพายุโซนร้อนที่พัดถล่มฟิลิปปินส์และเวียดนามในเดือนตุลาคมก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มพบผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยเองในเดือนสิงหาคมมีน้ำท่วมในเขตภาคเหนือ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4-6 พันล้านบาท เป็นต้น
การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emissions) ภายในปี 2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส จึงเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจร้ายแรงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตข้างหน้า
การประชุม
COP29
และการประกาศ
NDC
ฉบับที่ 2
“NDC2025"
สำคัญอย่างไร
การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (COP29) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยเป็นเวทีระดับโลกที่รวบรวมผู้นำประเทศสมาชิกมากกว่า 190 ประเทศ มาร่วมกันกำหนดเป้าหมายและแนวทางการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ครอบคลุมไปถึงการกำหนดเป้าหมายเงินสนับสนุนแก่ประเทศยากจน การผลักดันให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งขึ้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างความยืดหยุ่นของชุมชน รวมถึงปรับปรุงแผนการดำเนินงาน (Nationally Determined Contribution: NDC) ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศจะมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกตามข้อตกลงปารีสอย่างไร
NDC คือ แผนการที่แต่ละประเทศสมาชิกจัดทำขึ้นเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งในแผนจะมีรายละเอียดของความมุ่งมั่นต่าง ๆ เช่น เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก วิธีการที่ประเทศจะดำเนินการ และระยะเวลาที่จะดำเนินการ เป็นต้น ทั้งนี้ แต่ละประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีสตั้งแต่ปี 2015 จะต้องนำส่งแผน NDC ทุก 5 ปี ให้แก่ UNFCCC โดยแต่ละรอบสมาชิกต้องเพิ่มความเข้มข้นของพันธสัญญาหรือความมุ่งมั่นให้สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ
ก่อนเริ่มมีแผน NDC ฉบับแรก ประเทศสมาชิกต้องนำส่งร่างแผน INDC (Intended Nationally Determined Contribution) จากนั้นจึงพัฒนาเป็นแผน NDC ฉบับแรก ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกต้องส่งภายในปี 2020 (“NDC2020") โดยมีเป้าหมายดำเนินงานภายในปี 2030 และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025 จะเป็นครบรอบ 5 ปีอีกครั้ง ที่ประเทศสมาชิกต้องส่งแผน NDC ฉบับที่ 2 (“NDC2025") โดยครั้งนี้มีเป้าหมายการดำเนินงานภายในปี 2035 การส่งแผนในรอบใหม่นี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกให้มีประสิทธิภาพและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทบทวน
NDC
ฉบับแรก
“NDC 2020"
ของประเทศในกลุ่มอาเซียน มีคำมั่นสัญญาอะไรบ้าง?
จากการสำรวจข้อมูลของ Climate Watch ดังรูปภาพที่ 1 พบว่ามี 178 ประเทศสมาชิกที่ได้จัดส่ง NDC2020 แล้ว (สีเหลือง) และในจำนวนดังกล่าวมีถึง 109 ประเทศที่ได้ปรับปรุงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน NDC2020 ให้มีความท้าทายมากขึ้น (สีน้ำเงิน) จากร่างแผน INDC หรือแผน NDC2020 ที่เคยนำส่งไป โดยประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.9 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
รูปภาพที่ 1 จำนวนของประเทศภาคีที่นำส่ง NDC2020 แล้ว

ที่มา: Climate Watch
หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุด ณ มกราคม 2024
ประเทศในอาเซียน ยังไม่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดำเนินการปรับปรุง NDC2020 โดยได้เพิ่มระดับความท้าทายเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากเดิมที่ร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เพิ่มระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ขณะที่ฟิลิปปินส์และบรูไน แม้จะส่ง NDC2020 แล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่อย่างใด ส่วนลาวและเมียนมา ได้มีการเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากเดิมที่ไม่ได้ตั้งเป้า
รูปภาพที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบ NDC2020 ของแต่ละปะเทศ พบว่าประเทศที่เพิ่มระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม อาจสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ถึง 40% จากกรณีปกติ (BAU) ซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพยากรและการสนับสนุนต่าง ๆ จากต่างประเทศ ขณะที่สิงคโปร์วางแผนที่จะถึงระดับสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่า "จุดสูงสุด (peak)" ภายในปี 2030 หลังจากนั้น ประเทศจะเริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 60 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ทั้งนี้ สิงคโปร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและมีข้อจำกัดการใช้พลังงานทางเลือกเนื่องจากประเทศมีพื้นที่ขนาดเล็กและทรัพยากรจำกัด
ภาพรวมของแผนการดำเนินงานตาม NDC2020 ของแต่ละประเทศในกลุ่มอยู่ในช่วง 2020-2030 มีเพียงอินโดนีเซียที่ยังไม่ชัดเจนในจุดเริ่มดำเนินแผนงาน อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีแผนการดำเนินงานอยู่ในกรอบเวลาไม่เกินปีเป้าหมาย 2030 โดยกล่าวว่าประเทศสามารถเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 43.20% อย่างมีเงื่อนไขซึ่งขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศด้านการเงิน การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ
นอกจากนี้ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม มีความมุ่งมั่นที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงแล้ว (ภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิต ขยะและของเสีย และเกษตร) ส่วนประเทศที่เหลือภายในกลุ่ม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังไม่ได้ตั้งภาคขนส่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่เมียนมายังขาดภาคอุตสาหกรรมการผลิต และขยะและของเสีย
รูปภาพที่ 2 ภาพรวมแผน NDC2020 ของแต่ละประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: Our World in Data, Climate Watch, และแผน NDC2020 ฉบับปรับปรุงล่าสุดของแต่ละประเทศ
แม้ประเทศเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงทั้งหมด แต่ในแผน NDC2020 ก็มีการกล่าวถึงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่งมากที่สุดในภูมิภาค (ตามรูปภาพที่ 3) และเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของอินโดนีเซียเอง ภาคขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 20% จากทุกอุตสาหกรรม ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมการผลิต (อ้างอิงจากข้อมูล IEA ปี 2022) อย่างไรก็ดี ตามแผน NCD2020 ของอินโดนีเซียมีการกล่าวถึงมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่จะดำเนินกับทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงภาคขนส่ง เช่น ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและก๊าซ CNG ในภาคการขนส่ง เป็นต้น และ McKinsey & Company (2024) ได้ย้ำว่าภาคขนส่งถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักสำคัญรองจากการผลิตไฟฟ้าที่อินโดนีเซียต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
มาเลเซีย มีภาคขนส่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดรองจากอินโดนีเซียและไทย โดยมาเลเซียมีมาตรการ Low Carbon Mobility Blueprint 2021-2030 (LCMB) ซึ่งจะส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคขนส่งและยานยนต์ไฟฟ้า แม้แผนการดำเนินงานสำหรับภาคขนส่งใน NDC2020 ของมาเลเซียยังไม่ชัดเจนนัก ทั้งนี้ ประเด็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ายังพบเห็นได้ในแผน NDC2020 ของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม เช่น ไทยและสิงคโปร์
สำหรับ บรูไนและสิงคโปร์ ภาคขนส่งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างน้อย จากข้อมูลล่าสุดในปี 2020 ตามรูปภาพที่ 3 มีประมาณ 1.20 MtCO2e และ 6.17 MtCO2e ตามลำดับ เทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งมีการปล่อยอยู่ที่ 126.42 MtCO2e
รูปภาพที่ 3 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่ง (MtCO2e) ในช่วงปี 1990-2020
ที่มา: Our World in Data
การตั้งเป้าหมาย Net-zero ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะท้อนความมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจาก ส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 ตามข้อตกลงปารีส เมียนมามีความก้าวหน้าเร็วกว่าโดยวางเป้าหมายในปี 2040 เฉพาะกิจกรรมการใช้ที่ดินและป่าไม้ ในขณะที่ไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมีกรอบเวลายาวออกไปเป็นปี 2065 และ 2060 ตามลำดับ
ประเด็นสุดท้าย จากรูปภาพที่ 2 พบว่ามี 5 ประเทศที่กล่าวในแผน NDC2020 ว่าภายในปี 2030 จะมีจุดสูงสุดของปล่อยก๊าซเรือนกระจก (จุด peak) ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เมียนมา ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ประกอบกับรูปภาพที่ 4 จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีจุด peak แล้ว แต่ภายหลังข้อตกลงปารีสในปี 2015 มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น กัมพูชา เมียนมา และไทย ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเห็นชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความพยายามในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและพลังงาน
รูปภาพที่ 4 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งประเทศ (MtCO2e) ในช่วงปี 1850-2022

ที่มา: Our World in Data
ความหวังใน NDC
ฉบับสอง
“NDC2025"
แม้หลายประเทศได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมแนวทางการดำเนินงานผ่าน NDC2020 กันแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญของ WRI หรือ World Resources Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับโลกด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ออกมาเปิดเผยว่าความมุ่งมั่นเหล่านั้นยังไม่เพียงพอและมีความเสี่ยงที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.5-2.9°C ภายในปี 2100 แทนที่จะถูกควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 1.5°C
นับตั้งแต่แผน NDC2020 ถูกนำมาใช้ และใกล้จะครบรอบ 5 ปี การปรับปรุงแผน NDC กลายเป็นประเด็นสำคัญในหลายประเทศ โดยในการประชุม COP29 ที่ผ่านมา หลายประเทศได้นำเสนอร่างแผน NDC2025 สำหรับดำเนินการภายในปี 2035 เช่น สหราชอาณาจักรตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 81% (จากเป้าหมายเดิม 68% ภายในปี 2030) บราซิลวางแผนลดลง 59-67% (จากเป้าหมายเดิม 53.1% ภายในปี 2030) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งเป้าลด 47% (จากเป้าหมายเดิม 19% ภายในปี 2030) ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี Carbon Removal และเพิ่มความมุ่งมั่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Net-zero และแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้สำเร็จ
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้จะตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคล้ายกัน อย่างไรก็ดี NDC2020 สะท้อนถึงความแตกต่างในความมุ่งมั่นและแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ ดังนั้น แผนฉบับต่อไป “NDC2025" จึงจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาด การสร้างความยืดหยุ่นให้กับชุมชนที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคและระดับโลกจะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงกองทุนสนับสนุนอย่าง Green Climate Fund ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย NDC ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกับ บลจ.กสิกรไทย ผ่านกองทุน ESG แนะนำ
1.กองทุนประเภท Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อความยั่งยืน อย่างพันธบัตรไทย ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนมากขึ้น
เพื่อเซฟภาษี K-ESGSI-ThaiESG รายละเอียด >Click<
2.กองทุนผสมน้องใหม่ ลงทุนภายใต้แนวคิดแบบยั่งยืน มีการบาลานซ์สินทรัพย์ไปพร้อมกับการเติบโตในระยะยาว โดยกองทุนนี้จะเน้นลงทุนทั้งในตราสารหนี้ไทย และหุ้นภายในประเทศ
เพื่อเซฟภาษี K-BL30-ThaiESG รายละเอียด >Click<
3.เน้นลงทุนหุ้นไทย ที่มีเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่มาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้ใกล้เคียงดัชนี SET100 เป็นหลัก
เพื่อสะสมมูลค่า K-TNZ-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-TNZ-ThaiESG รายละเอียด >Click<
4.เน้นลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ตามแนวคิด ESG และมีโอกาสเติบโต เช่น Tesla เพิ่มกำลังการผลิตและสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเป้าหมาย และ TSMC ผลิตและส่งออกชิปสู่อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก
เพื่อสะสมมูลค่า K-CHANGE-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-CHANGE-SFF และ RMF รายละเอียด >Click<
5.กองทุนแรกในไทย ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจด้วยความยั่งยืน และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นใน 3 ธีมหลักได้แก่ พลังงาน พื้นดิน-มหาสมุทร และวัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือช่วยลดปัญหา Climate Change
เพื่อสะสมมูลค่า K-PLANET-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-PLANET-RMF รายละเอียด >Click<
สำหรับใครที่สนใจ ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทน และช่วยเซฟโลกอย่างยั่งยืน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ที่แอปฯ K-My Funds
คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Net Zero คืออะไร ทำไมต้องให้ความสำคัญ? >>Click
ร่าง พ.ร.บ. อากาศฯ แก้ไขวิกฤต PM2.5 >>Click
กฎหมายเปลี่ยนแปลงฯอากาศ ไทยพร้อมรึยัง? >>Click
วิกฤตสภาพอากาศ แผนพลังงานชาติต้องปรับ? >>Click
โลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศ อย่างไร? >>Click
เป้าหมาย Net Zero ไทย ไม่ไกลเกินเอื้อม >>Click