
- นักลงทุนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย 80% ของบริษัทใน Fortune Global 500 ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่บริษัทไทยเผชิญอุปสรรคหลายด้าน
- ผลสำรวจของ Morgan Stanley ระบุว่า นักลงทุนสถาบันจะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เนื่องจากนักลงทุนกว่า 50% ทั่วโลกมีเป้าหมาย Net-zero โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- อย่างไรก็ดี แม้การลงทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโต แต่ 85% ของนักลงทุนสถาบันมองว่าปัญหาการฟอกเขียวรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการประเมินข้อมูล ESG อย่างรอบคอบและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน
ในปัจจุบัน ประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง หลายประเทศและองค์กรต่างตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net-zero เพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว
ธุรกิจไทยและทั่วโลกกำลังเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
จากผลสำรวจ “27th Annual Global CEO Survey – Thailand" โดย PwC ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยจำนวน 33 ท่านในปี 2023 พบว่า
- 79% ของผู้บริหารกำลังอยู่ในกระบวนการปรับปรุง และบางส่วนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
- 61% ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี มีผู้บริหารจำนวน 21% และ 39% ที่ระบุว่าไม่ได้เริ่ม รวมถึงไม่มีแผนที่จะดำเนินการในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทในประเทศไทย ได้แก่ ความซับซ้อนของกฎระเบียบ ขาดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และขาดความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน
รายงานของ PwC ข้างต้น สอดคล้องกับ “Technology Trends Outlook 2024" รายงานของ McKinsey ที่เปิดเผยว่ากว่า 80% ของ 500 บริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก (Fortune Global 500) ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศด้วยการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันแล้ว และยังมีมิติความยั่งยืนอื่น ๆ อีกเช่นกันที่บริษัทให้ความสนใจ เช่น การจัดการน้ำ สารเคมีและพลาสติก ความหลากหลายทางชีวภาพ และป่าไม้ นอกจากนี้ McKinsey ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่ช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ได้แก่
- เทคโนโลยี CCUS (Carbon capture, utilization, and storage) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจทั่วโลก ทั้งจากการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ CCUS และข้อตกลงซื้อขายเครดิตคาร์บอนหรือบริการกำจัดคาร์บอนในระยะยาว (Long-term Carbon Offtakes) ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั่วโลก ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีนี้ ผ่านการสนับสนุนทั้งเงินทุน กฎระเบียบ และมาตรการลดหย่อนภาษี ตัวอย่างเช่น กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้ลงทุนกว่า 13 ล้านดอลลาร์ เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยเฉพาะ
- เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน (Agriculture Technology) เช่น การใช้ AI ช่วยลดปริมาณปุ๋ยและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีดาวเทียมที่ช่วยตรวจสุขภาพพืชและประเมินการทำเกษตรแบบยั่งยืน เป็นต้น
แนวโน้มการลงทุน
Net-zero
และการปรับตัวของนักลงทุนสถาบันในอนาคต
MSCI กล่าวถึงเทรนการลงทุนเกี่ยวกับ Net-zero ที่จะมาแรงในปีหน้า โดยจากรายงาน “Sustainability and Climate Trends to Watch 2025" ระบุว่านักลงทุนสถาบันจะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เนื่องจากมี 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 350 คน ซึ่งรวมถึงผู้จัดการสินทรัพย์ ธนาคาร และธุรกิจประกันภัยจากภาคการลงทุน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าในอนาคตจะยังคงมีผลกระทบทางกายภาพที่รุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายต่อทั้งตลาดการเงินและเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ทั่วโลกก็ได้เห็นแล้วว่าฤดูร้อนปี 2024 ที่ผ่านมา เราได้ไปถึงจุดที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์และผลกระทบจากโลกรวนได้ปรากฏชัด ตั้งแต่คลื่นความร้อนในอินเดีย น้ำท่วมในยุโรป ไปจนถึงพายุเฮอริเคนในอเมริกาเหนือ
เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2024 Morgan Stanley บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก เผยถึงผลสำรวจในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2024 จากนักลงทุนสถาบันกว่า 901 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย เจ้าของสินทรัพย์ (Asset Owner) 606 แห่ง และผู้จัดการสินทรัพย์ (Asset Manager) 295 แห่ง คาดว่าการกระจายสินทรัพย์ที่ยั่งยืนในพอร์ตการลงทุนและภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของนักลงทุนสถาบันจะเพิ่มขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนที่ยั่งยืนกลายเป็นข้อกำหนดใหม่และผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์นี้เริ่มมีความน่าเชื่อถือและพิสูจน์ผลลัพธ์ได้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนสถาบันกว่า 70% กล่าวว่าการลงทุนที่ยั่งยืนในปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ AUM พวกเขา
จากข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนอยู่ในระยะเริ่มต้นและต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป ซึ่งในอนาคตนักลงทุนสถาบันจะมุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์และบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมถึงดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง จากการสำรวจของ Morgan Stanley (รูปภาพที่ 1) พบว่านักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีเป้าหมาย Net-zero แล้ว โดยในภาพรวมทั่วโลกกลุ่มเจ้าของสินทรัพย์มีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มผู้จัดการสินทรัพย์ ที่ 65% และ 57% ตามลำดับ เมื่อแยกตามรายภูมิภาค พบว่าเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนสูงที่สุดทั้งในกลุ่มเจ้าของสินทรัพย์ (66%) และผู้จัดการสินทรัพย์ (68%)
ในทางตรงกันข้าม อเมริกาเหนือมีสัดส่วนของผู้จัดการสินทรัพย์ที่มีเป้าหมาย Net-zero น้อยที่สุดเพียง 44% และมีสัดส่วนของผู้จัดการสินทรัพย์ที่ "ไม่มีเป้าหมาย" และ "ยังไม่ชัดเจน" ที่จะมีหรือไม่มีเป้าหมาย Net-zero สูงที่สุดที่ 42% และ 14% ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายของทรัมป์และจะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตการลงทุน ส่วนในยุโรป สัดส่วนของนักลงทุนสถาบันที่มีเป้าหมาย Net-zero ทั้งในกลุ่มผู้จัดการสินทรัพย์ (61%) และเจ้าของสินทรัพย์ (66%) ค่อนข้างใกล้เคียงกัน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคนี้
รูปภาพที่
1 สัดส่วนของจำนวนนักลงทุนสถาบันกับเป้าหมาย Net-zero


ที่มา: Morgan Stanley
หมายเหตุ: ผลรวมอาจไม่เท่ากับ 100% เนื่องจากมีการปัดเศษ
รูปภาพที่ 2 มีหลายประเด็นที่นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญและคาดว่าจะลงทุนหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ในอนาคต โดยเฉพาะประเด็น “การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ที่เป็นอันดับต้น ๆ ด้วยสัดส่วนของจำนวนนักลงทุนสถาบัน 38% รองจากประเด็นการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการเงิน และเศรษฐกิจหมุนเวียน (41%, 40% และ 39% ของนักลงทุนสถาบัน ตามลำดับ)
สำหรับประเด็นที่มีแนวโน้มจะลงทุนหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์น้อยลงมากที่สุดในอีกสองปีข้างหน้า คือ "การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม" ซึ่งมีถึง 29% ของนักลงทุนสถาบัน ในขณะที่ประเด็นอย่าง "ความหลากหลายทางเพศ" ถูกจัดเป็นประเด็นที่นักลงทุนสถาบันยังไม่ลงทุนหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ และไม่มีแผนที่จะทำมากที่สุด(10% ของนักลงทุนสถาบัน) เมื่อเทียบกับประเด็นอื่น ๆ ซึ่งอาจสะท้อนถึงความท้าทายในการเชื่อมโยงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและผลตอบแทนทางการเงินที่ชัดเจน
รูปภาพที่ 2 สัดส่วนของจำนวนนักลงทุนสถาบันกับการลงทุนหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: Morgan Stanley
หมายเหตุ: ผลรวมอาจไม่เท่ากับ 100% เนื่องจากมีการปัดเศษ
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบันนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญมากที่สุดกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่วนประเด็นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันมากที่สุดในขณะนี้ คือ พลังงานทางเลือกและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
การฟอกเขียว (Greenwashing)
และการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ
แม้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการอ้างผลการดำเนินงานจากบริษัทผู้ออกสินทรัพย์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเกินจริง เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามและให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน
ผลสำรวจ Institutional Investor Survey โดย EY บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2024 ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงของนักลงทุนสถาบัน 350 แห่งทั่วโลก พบว่า 85% ของนักลงทุนสถาบันมองว่าปัญหาการฟอกเขียวรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับห้าปีก่อน อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 93% ของนักลงทุนสถาบัน ยังคงมั่นใจว่าบริษัทต่าง ๆ จะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ มี 62% ของนักลงทุนสถาบันระบุว่ามีความมั่นใจในความสามารถของตนในการประเมินข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บริษัทเปิดเผย
ความมุ่งมั่น ความท้าทาย และบทบาทของข้อมูล
ESG
ในการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน
ในช่วงเวลานี้ ความมุ่งมั่นของทั้งนักลงทุนและบริษัทในการบรรลุเป้าหมาย Net-zero มีความชัดเจนมากขึ้น นักลงทุนสถาบันจึงจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการประเมินข้อมูล ESG อย่างละเอียดถี่ถ้วนและสามารถติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนจะไม่เพียงสร้างผลกำไรแต่ยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีผลกระทบในระยะยาว
ทั้งนี้ การพัฒนามาตรฐานรายงานด้านความยั่งยืนและการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดอุปสรรค เสริมสร้างความโปร่งใส และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล ESG ซึ่งจะขจัดปัญหาการฟอกเขียว และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกับ บลจ.กสิกรไทย ผ่านกองทุน ESG แนะนำ
1.กองทุนประเภท Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อความยั่งยืน อย่างพันธบัตรไทย ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนมากขึ้น
เพื่อเซฟภาษี K-ESGSI-ThaiESG รายละเอียด >Click<
2.กองทุนผสมน้องใหม่ ลงทุนภายใต้แนวคิดแบบยั่งยืน มีการบาลานซ์สินทรัพย์ไปพร้อมกับการเติบโตในระยะยาว โดยกองทุนนี้จะเน้นลงทุนทั้งในตราสารหนี้ไทย และหุ้นภายในประเทศ
เพื่อเซฟภาษี K-BL30-ThaiESG รายละเอียด >Click<
3.เน้นลงทุนหุ้นไทย ที่มีเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่มาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้ใกล้เคียงดัชนี SET100 เป็นหลัก
เพื่อสะสมมูลค่า K-TNZ-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-TNZ-ThaiESG รายละเอียด >Click<
4.เน้นลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ตามแนวคิด ESG และมีโอกาสเติบโต เช่น Tesla เพิ่มกำลังการผลิตและสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเป้าหมาย และ TSMC ผลิตและส่งออกชิปสู่อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก
เพื่อสะสมมูลค่า K-CHANGE-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-CHANGE-SFF และ RMF รายละเอียด >Click<
5.กองทุนแรกในไทย ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจด้วยความยั่งยืน และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นใน 3 ธีมหลักได้แก่ พลังงาน พื้นดิน-มหาสมุทร และวัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือช่วยลดปัญหา Climate Change
เพื่อสะสมมูลค่า K-PLANET-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-PLANET-RMF รายละเอียด >Click<
สำหรับใครที่สนใจ ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทน และช่วยเซฟโลกอย่างยั่งยืน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ที่แอปฯ K-My Funds
คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทบทวนแผน NDC ในอาเซียน >>Click
Net Zero คืออะไร ทำไมต้องให้ความสำคัญ? >>Click
ร่าง พ.ร.บ. อากาศฯ แก้ไขวิกฤต PM2.5 >>Click
กฎหมายเปลี่ยนแปลงฯอากาศ ไทยพร้อมรึยัง? >>Click
วิกฤตสภาพอากาศ แผนพลังงานชาติต้องปรับ? >>Click