
HIGHLIGHTS :
• แต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งออกจากห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ประเทศไทยสร้างขยะอาหาร
สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน
• การจัดการขยะอาหารในไทยเป็นปัญหาที่น่ากังวล จากบทบาทของภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังมีน้อย
Food Waste
ปัญหาระดับโลกที่สำคัญ
ขยะอาหาร (Food Waste) ถือเป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกที่สำคัญ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของตลาดในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งออกจากห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เช่น อาหารที่กินไม่หมด อาหารที่หมดอายุ และเศษผักที่ใช้ตกแต่งจาน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แนวโน้มที่น่าตกใจนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการสูญเสียอาหารและขยะอาหารก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8-10% จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ตามรายงาน Food Waste Index 2024 ของ UNEP
ประเทศไทยสร้างขยะอาหาร แซงค่าเฉลี่ยโลก!!
จากรูปภาพที่ 1 ปีนี้ Food Waste Index 2024 ประมาณไว้ว่าค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับการประเมินของครั้งล่าสุดที่ผ่านมาใน Food Waste Index 2021) ขณะที่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน
สถานการณ์นี้ท้าทายอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 12.3 ที่ต้องการลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และยังกระทบต่อข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิของโลก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
รูปภาพที่
1 ค่าเฉลี่ยปริมาณการสร้างขยะอาหารของไทยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และแซงหน้าค่าเฉลี่ยโลก

ที่มา: เว็บไซต์ UNEP
ขยะอาหาร ปัญหาที่ถูกมองข้าม ของประเทศไทย?
กรมควบคุมมลพิษ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ขยะและสถานการณ์มลพิษในไทย ฉบับล่าสุดปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยพุ่งสูงถึง 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5% เนื่องจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แรงงาน และการลงทุน ทั้งนี้ ขยะอาหารถูกพบเป็นสัดส่วนหลักของขยะมูลฝอย ประมาณ 10.24 ล้านตัน หรือกว่า 38% อนึ่ง สัดส่วนนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากข้อมูลผลสำรวจล่าสุดในปี 2564 ดังรูปภาพที่ 2
รูปภาพที่
2 สัดส่วนของขยะอาหารคิดเป็น 38.76% ในขยะมูลฝอยของไทยในปี 2564

ที่มา: เว็บไซต์ กรมควบคุมมลพิษ
การจัดการขยะอาหาร ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล
ขยะอาหารแบ่งเป็นส่วนที่รับประทานได้ 40% และส่วนที่รับประทานไม่ได้ 60% โดยพบมากที่สุดในครัวเรือน เช่น เปลือกผลไม้ นอกจากนี้ยังพบในร้านค้าและร้านอาหาร ซึ่งมีทั้งเศษจากการตัดแต่งอาหาร อาหารเน่าเสีย อาหารที่ขายไม่หมด และอาหารเหลือทิ้งจากลูกค้า ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการขยะอาหารที่ยังคงมีอยู่
กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้มาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1) ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงการป้องกัน การคัดแยก และการจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง และ
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางระบบคัดแยกขยะ กระทบต่อการนำขยะไปใช้ประโยชน์และการกำจัดที่ปลายทาง เช่น กลิ่นเหม็น สัตว์และแมลงรบกวน และเกิดก๊าซเรือนกระจก
ภาครัฐยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นจัดการขยะอาหาร ขณะที่บทบาทของภาคธุรกิจและประชาชนยังน้อย
ประเทศไทยมีกรอบและทิศทางในการดำเนินงานจัดการขยะอาหารตามแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566-2570) ซึ่งกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้จัดทำและอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเมื่อต้นปี 2567 โดยตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนขยะอาหารในขยะมูลฝอยลงให้เหลือไม่เกิน 28% ภายในปี 2570 (เทียบกับปีฐานคือปี 2564 ที่มีสัดส่วนขยะอาหาร 38.76% หรือ 39% โดยประมาณ)
ตามแผนประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่
- การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารในกลุ่มผู้จำหน่ายและผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร ผู้บริโภค และการจัดการอาหารส่วนเกิน
- การจัดการและใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร
- การพัฒนาเครื่องมือจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร รวมถึงจัดทำข้อเสนอรูปแบบการคัดแยกและเก็บขยะมูลฝอยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางดำเนินงาน
แนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดขยะอาหาร
ภาครัฐยังได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมมือกันจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดขยะอาหาร รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ เมื่อ 28 มิถุนายน 2566 ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินจากธุรกิจจำหน่ายอาหารให้กับผู้ด้อยโอกาส และจัดทำร่างแนวทางความปลอดภัยและวิธีการบริจาคอาหารส่วนเกิน เพื่อให้การบริจาคอาหารไม่ขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามความร่วมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดทำโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน การคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท รวมถึงพัฒนากลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันแผนการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารของภาครัฐอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งบทบาทของภาคธุรกิจและประชาชนยังมีส่วนร่วมน้อยจึงควรมีการส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐเพิ่มขึ้น และควรมีการวางแผนนำโครงการที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการผลิตอาหารที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดขยะอาหาร รวมถึงสร้างระบบที่สามารถติดตามความก้าวหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม
แนวทางการสร้างความร่วมมือเพื่อลดขยะอาหาร ด้วย
PPP โมเดล
(Public-Private Partnership)
งานศึกษาของ Flanagan, Robertson and Hanson ได้นำเสนอ PPP โมเดล เพื่อสร้างร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและประชาชนในการลดอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ด้วยแนวทาง “Target-Measure-Act" ได้แก่ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน วัดและติดตามผลการดำเนินงานเมื่อเวลาผ่านไป และปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ UNEP ได้ให้รายละเอียดแนวทางการนำ PPP โมเดลไปปรับใช้เพิ่มเติม ดังนี้
-
สร้างระบบและความร่วมมือ ให้เข้าถึงง่าย เพื่อทราบและติดตามปัญหาการจัดการขยะอาหาร
-
เปิดพื้นที่ ให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
-
ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อลดและจัดการอาหารส่วนเกิน
-
เพิ่มความเข้าใจและแสวงหาโอกาส จากกรณีศึกษา เพื่อป้องกันการเกิดขยะอาหาร
-
ติดตามความคืบหน้าและเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีการรายงานข้อมูลและตัวชี้วัด เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลดขยะอาหาร และสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในทุกภาคส่วน
โมเดลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่องและทบทวนเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลกระทบเชิงบวกเกิดสูงสุด
สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วม …กุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ปัญหาขยะอาหารเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายลดโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายและการดำเนินงานยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้จะมีเป้าหมาย แผน และมาตรการส่งเสริม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้แจากภาครัฐ แต่การจัดการขยะอาหารยังคงต้องการการบูรณาการและการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการร่วมกันจากทุกภาคส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นอันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกับ บลจ.กสิกรไทย ผ่านกองทุน ESG แนะนำ
1.กองทุนประเภท Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อความยั่งยืน อย่างพันธบัตรไทย ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนมากขึ้น
เพื่อเซฟภาษี K-ESGSI-ThaiESG รายละเอียด >Click<
2.เน้นลงทุนหุ้นไทย ที่มีเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่มาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้ใกล้เคียงดัชนี SET100 เป็นหลัก
เพื่อสะสมมูลค่า K-TNZ-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-TNZ-ThaiESG รายละเอียด >Click<
3.เน้นลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ตามแนวคิด ESG และมีโอกาสเติบโต เช่น Tesla เพิ่มกำลังการผลิตและสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเป้าหมาย และ TSMC ผลิตและส่งออกชิปสู่อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก
เพื่อสะสมมูลค่า K-CHANGE-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-CHANGE-SFF และ RMF รายละเอียด >Click<
4.กองทุนแรกในไทย ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจด้วยความยั่งยืน และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นใน 3 ธีมหลักได้แก่ พลังงาน พื้นดิน-มหาสมุทร และวัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือช่วยลดปัญหา Climate Change
เพื่อสะสมมูลค่า K-PLANET-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-PLANET-RMF รายละเอียด >Click<
สำหรับใครที่สนใจ ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทน และช่วยเซฟโลกอย่างยั่งยืน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ที่แอปฯ K-My Funds
คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com
ที่มา: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 5 ส.ค. 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตสภาพอากาศ แผนพลังงานชาติต้องปรับ? >>Click
โลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศ อย่างไร? >>Click
เป้าหมาย Net Zero ไทย ไม่ไกลเกินเอื้อม >>Click
ได้เวลาลงทุนด้าน Climate Change >> Click
โลกร้อนหลบไป โลกเดือดกำลังเข้ามาแทน >> Click