
ตอนที่ 4 จากโจ ไบเดน …สู่ กมลา แฮร์ริส
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ชื่อของ 'กมลา แฮร์ริส' (Kamala Harris) เข้ามาอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกอย่างมาก เมื่อโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 81 ปี ถอนตัวอย่างเป็นทางการจากการเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 หลังคะแนนนิยมของไบเดนนั้นตกลงไปมาก นับจากการดีเบตกับทรัมป์ในครั้งแรกช่วงปลายเดือนมิ.ย.
“กมลา แฮร์ริส" คือใคร?
ปัจจุบัน กมลา แฮร์ริสในวัย 59 ปี กำลังดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
โดยเส้นทางการทำงานในช่วงก่อนหน้าระหว่างปี 2004-2010 แฮร์ริสได้รับเลือกให้เป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโก ตามมาด้วยตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2011 ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกอีกเช่นเดียวกัน ส่วนในสายการเมือง แฮร์ริสได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2017
และถึงแม้ว่าความนิยมของแฮร์ริสก่อนหน้านี้จะไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่ดูเหมือนว่าการส่งไม้ต่อของไบเดนมาที่แฮร์ริสจะเป็นการตัดสินใจที่ได้ผลตอบรับเชิงบวก เพราะทำให้คะแนนนิยมของผู้แทนจากพรรคเดโมแครตปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับทรัมป์อีกครั้ง
ผลสำรวจคะแนนความนิยมของทรัมป์ ไบเดน และแฮร์ริส
FiveThirtyEight average of national presidential election polls

ที่มา: FiveThirtyEight
ในส่วนของแนวคิดด้านนโยบายของแฮร์ริสนั้น ถือว่ามีมุมมองที่ใกล้เคียงกับโจ ไบเดน และในฐานะรองประธานาธิบดี แฮร์ริสจึงมีส่วนช่วยในหลายๆ นโยบายของรัฐบาลไบเดน แม้มีบางส่วนที่แตกต่างกันในรายละเอียด อาทิ
ในด้านนโยบายภาษี แฮร์ริสมีแนวคิดที่คล้ายกับไบเดนในเรื่องการไม่ต่ออายุกฎหมายภาษีที่ออกมาในสมัยของทรัมป์อย่าง Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และกำลังจะหมดอายุลงในปีหน้า แต่แฮร์ริสเองดูเหมือนมีแนวคิดที่จะปรับภาษีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง และบริษัทเอกชนต่างๆ มากกว่าไบเดน
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมีแนวคิดสนับสนุนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน แม้ว่าสำหรับแฮร์ริสแล้วอาจจะมีเป้าหมายที่สูงกว่าไบเดน จากท่าทีที่ให้การสนับสนุน Green New Deal หรือมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Target) ภายในปี 2050 และให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอย่างเท่าเทียม
การสนับสนุนด้านสาธารณสุข
ขณะที่ในด้านสาธารณสุข การให้ประชาชนชาวอเมริกันเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง ล้วนเป็นแนวคิดของทั้งไบเดนและแฮร์ริส แต่สำหรับแฮร์ริสนั้น ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2020 ได้แสดงวิสัยทัศน์สนับสนุนนโยบาย 'Medicare for All' ที่มีเป้าประสงค์ให้ชาวอเมริกันทุกคนได้รับสวัสดิการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมทั่วกัน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ซึ่งในวิดีโอแคมเปญหาเสียงอันแรกของแฮร์ริสเองที่เพิ่งปล่อยออกมา ก็ได้กล่าวถึงคำว่า Freedom หรือ 'อิสระ' เป็นประเด็นหลัก โดยส่วนหนึ่งระบุถึงอนาคตของสหรัฐฯ ที่เด็กอเมริกันทุกคนจะหลุดพ้นจากความยากจน และทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ สะท้อนว่าแฮร์ริสได้ให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณสุขค่อนข้างมาก
ดังนั้น ในส่วนถัดไปของบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงความแตกต่างระหว่างนโยบายสาธารณสุขของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน รวมถึงนัยยะต่อกลยุทธ์การลงทุน
เปรียบเทียบนโยบายด้านสาธารณสุขระหว่างทั้งสองพรรค
แม้แนวคิดด้านนโยบายสาธารณสุขระหว่างทั้งสองพรรคจะมีความแตกต่างกันในแง่ที่ทางฝั่งเดโมแครตมองว่ารัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการให้สวัสดิการด้านสาธาณสุขแก่ประชาชน และสานต่อระบบโอบามาแคร์ตามกฎหมาย Affordable Care Act (ACA) ซึ่งบังคับให้ชาวอเมริกันซื้อประกันสุขภาพ โดยรัฐจะเป็นผู้ให้เงินอุดหนุน และจ่ายเงินบางส่วนให้แก่บริษัทประกัน เพื่อให้ชาวอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ รวมถึงมีแนวโน้มจะเพิ่มผลประโยชน์ให้มากขึ้น อาทิ การรักษาทางทันตกรรม และการรักษาโรคทางสายตา เป็นต้น
ส่วนทรัมป์นั้น ตั้งแต่ที่ได้รับตำแหน่งในปี 2017 ก็มีท่าทีต้องการยกเลิก ACA และพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า American Health Care Act (AHCA) มาใช้แทน ซึ่งไม่บังคับให้ทุกคนต้องทำประกันสุขภาพ แม้จะยังยกเลิกไม่สำเร็จในครั้งนั้น แต่คาดว่าทรัมป์น่าจะมีแนวคิดเช่นเดิม รวมทั้งต้องการที่จะลดการจ่ายในนโยบาย Medicaid ที่เป็นโครงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย
แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองพรรคคือ ความต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพมากขึ้น ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ นั้นถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก
โดยจากข้อมูลของ OECD Health Statistics 2023 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลชาวอเมริกันในปี 2022 นั้นอยู่ที่ 12,555 ดอลลาร์ฯ ต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงเกือบ 2 เท่า (6,414 ดอลลาร์ฯ) ทำให้เดโมแครตสนับสนุนให้โครงการ Medicare มีการเจรจากับบริษัทยาเพื่อลดราคายาลง และมีแนวโน้มเพิ่มจํานวนยาในรายการที่จะเจรจาให้มากขึ้นด้วย ขณะที่รีพับลิกันเน้นไปที่ความโปร่งใสของโครงสร้างราคายา และการไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
นัยยะต่อกลยุทธ์การลงทุน
อุตสาหกรรม Healthcare นั้นถือเป็นหนึ่งในธุรกิจเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจในระยะยาว จากโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกราว 1 ใน 6 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้จ่ายไปกับบริการด้านสุขภาพมากกว่าประชากรวัยหนุ่มสาวถึง 3 เท่า และในสหรัฐฯ เองในทุกๆวัน จะมีประชากรกว่า 10,000 คนเข้าสู่ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป
ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ท่ามกลางการสนับสนุนในด้านวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม
สัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต่อประชากรโลกทั้งหมด

ที่มา: United Nations Department of Economic and Social Affairs
ซึ่งเช่นเคยว่าเราไม่สามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนโดยการเก็งว่าใครจะคว้าชัยในการเลือกตั้งได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก รวมถึงหากดูจากสถิติในอดีตจะพบว่า ผลตอบแทนของการลงทุนจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า
กระนั้น การคาดการณ์ของตลาดต่อแนวโน้มนโยบายด้านสาธารณสุขย่อมส่งผลต่อ sentiment หุ้นในกลุ่ม Healthcare ในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงหลังการดีเบตระหว่างทรัมป์กับไบเดนในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อคะแนนความนิยมของไบเดนตกลง ก็ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มบริษัทประกันที่มีรายได้จากการขายแผน Medicare Advantage ปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจาก Medicare Advantage คือแผนประกันสุขภาพเพิ่มเติมที่รัฐบาลจะอุดหนุนเบี้ยบางส่วน ผ่านการจ่ายแบบเหมาต่อคนต่อปีให้แก่บริษัทประกันเหล่านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนมีความพยายามที่จะลดอัตราการจ่ายต่อหัวแก่บริษัทประกันเหล่านี้ลง ทำให้นักลงทุนมองว่า หากทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี จะทำให้ความเข้มงวดต่างๆ ช่วงรัฐบาลไบเดนผ่อนคลายลง และเป็นประโยชน์แก่บริษัทประกัน
ด้านนโยบายการควบคุมราคายา
ในขณะที่ ด้านนโยบายการควบคุมราคายานั้นจะส่งผลต่อกำไร และราคาหุ้นของบริษัทยาเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นบริษัทยาที่มุ่งวิจัยพัฒนา มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ก็จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้
ดังนั้น จะเห็นว่าในระยะสั้นนักลงทุนอาจจะยังเผชิญความผันผวนของตลาดอยู่ ตามคาดการณ์ของตลาดต่อผลกระทบของนโยบายแต่ละพรรค และคะแนนนิยมของผู้แทนจากทั้งสองพรรค จึงอยากชวนนักลงทุนให้มาติดตามไปพร้อมๆ กัน ว่าในปีนี้เราจะได้เห็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หรือไม่ เหลืออีกเพียงไม่ถึง 100 วันแล้วก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในเดือนพ.ย. นี้
บทความโดย
คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, Chief Investment Officer. บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สงครามการค้า กลับมาร้อนระอุ อีกครั้ง? >>Click
จับตานโยบายการคลังสหรัฐฯ >>Click
เส้นทางสู่การเป็น ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 >>Click
จัดพอร์ต Core-Satellite ไม่ใช่เรื่องยาก >>Click