12/19/2024

ผลการประชุมนโยบายดอกเบี้ย ธ.ค. ทั้ง Fed และ กนง. ไม่พลิกโผ

Fed หั่นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดในปีหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ นับเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยรวมแล้ว Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในปีนี้

ในการประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 2 ครั้งในปีหน้า (รวม 0.50%) จากเดิมที่ส่งสัญญาณในเดือนก.ย.ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง (รวม 1.00%)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ Fed มีคาดการณ์ ดังนี้

  • ปรับคาดการณ์ GDP ว่าจะเติบโต 2.5%, 2.1% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ย.ว่าจะขยายตัว 2.0% ทุกปี ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
  • คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ที่ระดับ 2.8%, 2.5% และ 2.2% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.6%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ
  • อัตราว่างงาน Fed มองที่ระดับ 4.2%, 4.3% และ 4.3% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.4%, 4.4% และ 4.3% ตามลำดับ ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.2%

 

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ต่อปี หลังจากที่ปรับลดไปเมื่อการประชุมเดือนต.ค.ที่ผ่านมา  โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวทางนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยประมาณการ GDP จะขยายตัว 2.7% ในปีนี้ และ 2.9% ในปีหน้า (เท่ากับประมาณการเดิมเมื่อเดือนต.ค.) ด้วยแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้าหมวดเทคโนโลยี

 

ด้านเงินเฟ้อ ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ มาอยู่ที่ 0.4% (จากเดิมคาด 0.5%) และที่ 1.1% ในปี 2568 (จากเดิมคาด 1.2%) โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.0% ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ

 

มุมมองการลงทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ

 

การลดดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้เป็นไปในลักษณะ Hawkish Cut คือแม้จะลดดอกเบี้ยลงตามคาด แต่ได้มีการปรับแนวโน้มทิศทางการลดดอกเบี้ยในปีหน้าลง จาก 4 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง อีกทั้งยังมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะยาวขึ้น ส่งผลให้ทั้งตลาดพันธบัตร และตลาดทุนปรับตัวลงค่อนข้างมาก หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่าการปรับประมาณอัตราการว่างงานปีหน้าลงและปรับ GDP ขึ้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโต รวมทั้งตลาดแรงงานที่ดูไม่เป็นที่กังวล ทำให้ Fed เริ่มกลับมาให้ความสนใจกับเงินเฟ้อมากขึ้นอีกครั้ง และด้วยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงเป็น Soft Landing ทำให้การเทขายของตลาดหุ้นและพันธบัตรในครั้งนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล   

 

ด้านนโยบายการเงินของไทย เรายังคงมุมมองว่าธปท. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยต่อในปี 2568 แต่อาจเกิดขึ้นไม่เร็วนัก โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจ และคุณภาพสินเชื่อ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยในประเทศได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดว่าการดำเนินนโยบายของธปท. ในระยะถัดไปจะเป็นการลดดอกเบี้ยลง การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะยังได้ประโยชน์ด้านราคา เมื่ออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับลดลง บวกกับได้รับผลตอบแทนจากถือครองต่อไป 

 

คำแนะนำการลงทุน​

 

'KAsset จึงยังคงให้น้ำหนัก Overweight สำหรับการลงทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศในระยะกลางถึงยาว' สามารถทยอยซื้อสะสมได้ จากอัตราผลตอบแทนที่ยังอยู่ในระดับสูงในรอบหลายปี อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงในระยะข้างหน้า แม้ว่าในระยะสั้นมีโอกาสผันผวน

 

นอกจากนี้ 'KAsset ยังคงน้ำหนัก Overweight กับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ใช้จังหวะที่ตลาดย่อทยอยเข้าสะสม' เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง กำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ บวกกับนโยบายของ Trump 2.0 ที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อาจมีความผันผวนสูงขึ้นในปีหน้า จากความไม่แน่นอนของนโยบายของ Trump และมูลค่าของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต แนะนำกระจายความเสี่ยงในตลาดหุ้นทั่วโลก ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง REITs  

 

ที่มา: KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2567

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com




Yes
12/19/2024
none