3/2/2025

สรุปเหตุการณ์ 'ทรัมป์-เซเลนสกี' ดีลล่ม และมุมมองการลงทุน​

สรุปเหตุการณ์สำคัญ
การประชุมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2025 จบลงด้วยความตึงเครียดสูง

ทรัมป์ขู่ว่าจะระงับการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน และกล่าวว่าเซเลนสกี “ไม่พร้อมสำหรับสันติภาพ”
เซเลนสกีตอบโต้โดยปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับรัสเซีย และย้ำว่าปูตินไม่สามารถไว้ใจได้ การเจรจาล้มเหลวทันที ส่งผลให้ สหรัฐฯและยูเครนเกิดรอยร้าวรุนแรงทางการทูต

ทั้งนี้ ทรัมป์ ระบุว่า เซเลนสกี ควรทำข้อตกลงกับรัสเซีย เพื่อยุติสงคราม มิเช่นนั้นสหรัฐฯ จะไม่ให้ความช่วยเหลือ“You either make a deal, or we are out.”

เซเลนสกีมีความเห็นที่ขัดแย้งว่ายูเครนไม่ควรประนีประนอมกับรัสเซียในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ “no compromises with a killer on our territory."

อนึ่ง ความล้มเหลวในการหารือครั้งนี้อาจทำให้ความพยายามในการยุติสงครามที่ยาวนาน 3 ปีในยูเครนยากลำบากมากขึ้น โดยผู้นำชาติยุโรปได้แสดงท่าทีสนับสนุนยูเครนหลังเกิดข้อพิพาท

เหตุการณ์ที่ควรติดตามต่อไป
• ผู้นำยุโรปมีกำหนดพบกันในลอนดอนในวันอาทิตย์ (2 มีนาคม) เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครน
• Antonio Costa ประธานสภายุโรปเรียกประชุมพิเศษเกี่ยวกับยูเครนในวันที่ 6 มีนาคมเช่นกัน

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
1) ด้านภูมิรัฐศาสตร์

>> ในกรณีที่ 1 
ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และยุโรปยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเพียงพอสำหรับยูเครนที่จะรักษาแนวหน้าของการรบกับรัสเซีย และซื้อเวลาสำหรับการเจรจาข้อตกลง แต่คาดว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะการที่สหรัฐให้ความสนับสนุนทางยูเครนต่อไป จะไม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ยูเครนในการตอบรับเงื่อนไขข้อตกลง
 
>> ในกรณีที่ 2 
สหรัฐฯ ตัดการส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครน ทำให้ความช่วยเหลือที่ยูเครนได้รับจากยุโรป และพันธมิตรอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงกำลังของตัวเอง มีขีดความสามารถลดลง การโจมตีของรัสเซียจะได้พื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยูเครนอาจจะต้องยอมรับสันติภาพที่ในเงื่ิอนไขที่เท่าเดิม หรือแย่กว่าเดิม
 
กรณีที่ 2 มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง NATO และสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น เนื่องจากพันธมิตรยุโรปต้องเพิ่มบทบาทสนับสนุนยูเครนแทนสหรัฐฯ นอกจากนี้จะมีผลกระทบกดดันเพิ่มเติมในเรื่องการใช้จ่ายของรัฐบาลยุโรป เพราะเงินส่วนนึงต้องมาใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนยูเครนเพิ่ม แทนที่จะใช้ในการช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศ
 
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะกรณี 1 หรือ 2 คือการที่สุดท้ายสงครามยุติ และเป็นการจบด้วยการมีข้อตกลงกันทั้ง 2 กรณี สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการ ถอนมาตรการการคว่ำบาตรในเรื่องต่างๆ ที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งภาพดังกล่าว จะทำให้ตลาดพลังงาน: น้ำมัน และ ก๊าซ ปรับตัวลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนเรื่องการลดค่าใช้จ่ายพลังงานของยุโรป และช่วยลดอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของทั้งสหรัฐฯ และยุโรป

2) ด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ: ตลาดอาจมีความผันผวนในระยะสั้น แต่จากตลาดที่ยังคงปิดบวกขึ้นมาได้ในวันศุกร์ แสดงว่าตลาดไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญ
 
กลุ่มหุ้นอุตสาหกรรมป้องกัน ยังคงได้รับประโยชน์ต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ 1 หรือ 2 ยุโรปยังคงต้องเพิ่มการใช้จ่ายทางด้านการป้องกัน และปริมาณการเพิ่มการใช้จ่ายของยุโรปเพื่อให้สามารถป้องกันภัยคุกคามด้วยตัวเอง เป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่มากกว่าการที่สหรัฐฯ ถอนการช่วยเหลือยูเครน หรือเมื่อสงครามยุติลง
 
ตลาดหุ้นยุโรป: ค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่องบประมาณของประเทศที่อาจมีการขาดดุลการคลังเพิ่มมากขึ้น และความสามารถรถในการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในส่วนที่จำเป็น

อย่างไรก็ตามการที่สงครามสุดท้ายจะยุติลงด้วยรูปแบบของการมีข้อตกลงในทั้ง 2 กรณี ทำให้ยุโรปอย่างน้อยจะได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายพลังงานที่ลดลง จากการที่มาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียถูกถอนออก
 
พันธบัตรสหรัฐฯ และยุโรป: นักลงทุนอาจหันไปถือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเยอรมนี มากขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง (ราคาสูงขึ้น) 

ผลกระทบต่อค่าเงิน
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
- เงินยูโรอ่อนค่าลง เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจยุโรป
- ค่าเงินบาทผันผวน ตามความไม่แน่นอนและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วง 3-7 มีนาคม 2025

มุมมองการลงทุน 
เนื่องจากสถานการณ์ยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ และเนื่องจากกำลังจะมีการประชุมผู้นำยุโรปมีกำหนดพบกันในลอนดอนในวันอาทิตย์ (2 มีนาคม) เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครน และมีการประชุมพิเศษเกี่ยวกับยูเครนในวันที่ 6 มีนาคมเช่นกัน ทำให้ตลาดหุ้น พันธบัตรและค่าเงิน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตลาดยุโรปอาจผันผวนสูงในช่วงนี้
 
KAsset เน้นให้เห็นความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง และหากท่านที่มีตลาดหุ้นยุโรปในสัดส่วนสูงมาก แนะนำ take profit ลงมาก่อน โดยคำแนะนำของ KAsset ต่อหุ้นยุโรปคือ Neutral (มีในสัดส่วนปานกลาง) เนื่องจากเรามองว่าสถานการณ์นี้ยังคงเปราะบาง นำไปสู่เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางเช่นเดียวกัน

คำแนะนำการลงทุน 
เพื่อลดความผันผวนของพอร์ต แนะนำให้กระจายการลงทุน ดังนี้
-K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP และ K-WPULTIMATE :  สำหรับลงทุนระยะยาว เป็น Core พอร์ต กองทุนมีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก
K-FIXEDPLUS​ : สำหรับผู้ลงทุนที่พักเงินได้ยาว 1-1.5 ปี เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดี และมีการกระจายการลงทุนบางส่วนไปตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
K-SF​ : สำหรับพักเงินระยะสั้น 1-3 เดือน เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคา พร้อมให้ผลตอบแทนที่ดี ในสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูง


ที่มา: KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย 

ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2025​

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com / กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้




Yes
3/2/2025
0
situation