4/3/2025

นโยบายภาษี Reciprocal Tariffs  ส่งผลให้ตลาดหุ้น ผันผวนแรงทั่วโลก​

ทรัมป์จัดหนัก แถลง "ภาษีตอบโต้" ประเทศคู่ค้าทั่วโลกตลาดหุ้นผันผวนแรง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศมาตรการภาษีชุดใหม่ภายใต้ชื่อ "Liberation Day" โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับความไม่สมดุลทางการค้า ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากหลายประเทศ
• เก็บภาษีอย่างน้อย 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด มีผลบังคับใช้วันที่  5 เมษายน 2025
• อัตราภาษีสูงกว่า 10% สำหรับประเทศที่มีภาษีการค้าสูง เริ่มบังคับใช้วันที่ 9 เมษายน 2025 

รายละเอียดการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ Reciprocal Tariff Rate ดังนี้
• สหภาพยุโรป: 20% 
• ญี่ปุ่น: 24%
• จีน: 34% 
• อินเดีย: 26%
• เวียดนาม: 46% 
• ไทย: 36%  
 
ผลกระทบต่อตลาด
หลังจากการประกาศดังกล่าว ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก
• ตลาดสหรัฐฯ : สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ S&P 500 ลดลงประมาณ 3.9% และ Nasdaq 100 ลดลงประมาณ 4.7% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการ 
• ตลาดยุโรป : สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตลาดยุโรปปรับตัวลงประมาณ 1%
• ตลาดเอเชีย : ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 3% 

ความเห็นต่อผลกระทบโดยรวมของมาตรการภาษี
• Reciprocal Tariff สูงกว่าคาด
• อัตราภาษีที่แท้จริงโดยรวม (Effective tariff rate) จากที่ประกาศมาขณะนี้สูงกว่า 25% ถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าจะทำให้อัตราภาษีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 24% นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ทำให้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง
• ในขณะที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้จ่ายกับสินค้านำเข้าราว 10–13% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากคิดผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อจะเท่ากับ 13% x 24% = 3.1% หากสมมุติว่าแรงกดดันด้านต้นทุนแบ่งกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ส่งออกคนละครึ่ง (ตามความเป็นจริงแล้วอาจแบ่งไปที่ผู้ส่งออกมากกว่า) ผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคจะอยู่ที่ +1.55% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้เดิมที่ประมาณ +0.5% 

มุมมองด้านนโยบายการเงิน
• มีโอกาสที่ Fed จะสามารถลดดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม
• Fed มีความพร้อมที่จะรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัว โดยประธานเจอโรม พาวเวลล์กล่าวในที่ประชุมล่าสุดว่า Fed จะมองเงินเฟ้อจากภาษีว่าเป็น "การเพิ่มขึ้นของระดับราคาแบบครั้งเดียว" ที่สามารถมองข้ามได้ จึงเปิดทางให้ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้หากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แม้เงินเฟ้อจะปรับขึ้น 

ปฏิกริยาเบื้องต้นจากนานาชาติ พร้อมจะตอบโต้
• จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ตกลงร่วมมือกันตอบโต้ภาษีสหรัฐฯ
• ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) โดยประธานคณะกรรมาธิการ Ursula von der Leyen กล่าวว่า "ยุโรปไม่ใช่ฝ่ายเริ่มต้นความขัดแย้งนี้...แต่ถ้าจำเป็น เรามีแผนรับมือที่เข้มแข็ง และเราจะใช้มัน"

เศรษฐกิจไทยถูกกดดันและมีโอกาสโตต่ำคาด
• ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่า เศรษฐกิจไทย จะสามารถโตประมาณ 2.4% แต่เมื่อมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้า ทำให้แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยหากภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นขึ้น 25% หรือมากกว่า มีความเป็นไปได้ที่  GDP จะโตต่ำ 2%
• KAsset คาดว่า ประเทศไทยจะใช้แนวทางในการเจรจา โดยการปรับลดภาษีนำเข้า และเพิ่มปริมาณนำเข้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์  และเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 

มุมมองการลงทุนในระยะสั้น
• ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยติดตามมาตรการตอบโต้จากประเทศที่โดนเก็บภาษีสูงๆ เช่นจีนหรือยุโรป
• ถึงแม้ว่าการประกาศอัตราภาษีของ ปธน. ทรัมป์ในวันนี้ จะทำให้ตลาดตกใจ และตลาดปรับตัวลงอย่างมาก แต่คุณ Scott Bressent รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ผู้ที่เป็นหนึ่งในทีมศึกษา Reciprocal Tariff กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศที่โดนขึ้นภาษี อย่าเพิ่งตอบโต้อย่างรุนแรง แต่ควรใช้โอกาสนี้เข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ มากกว่า เพราะว่าการตอบโต้อย่างรุนแรงอย่างรวดเร็ว จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าปรับขึ้นไป มากกว่าจะลงมา และกล่าวว่าตอนนี้ทุกประเทศติดต่อมาที่สหรัฐฯ เพื่อเจรจา
• นอกจากนี้ นักกลยุทธ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก จาก BCA Research มองว่า กระดาน Reciprocal Tariff นี้อาจจะเป็น อัตราภาษีขั้นสูงที่สุด และจะถูกใช้เป็นกระดานที่ใช้เจรจามากกว่า ตามหลักของ ปธน. ทรัมป์ที่ใช้ Maximum Pressure คือสร้างแรงกดดันให้มากที่สุดก่อน ในการเจรจาขั้นแรก
 
ดังนั้น ถึงแม้อัตราภาษีที่ประกาศครั้งนี้จะเป็นเพียง "ครึ่งหนึ่ง" ของอัตราที่รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าแต่ละประเทศเรียกเก็บจากสหรัฐฯ แต่ก็เปิดโอกาสให้มีทั้งการตอบโต้หรือการเจรจาเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากประเทศคู่ค้าต่างๆ สามารถเจรจาเพื่อลดภาษี หรือลงทุนในสหรัฐเพิ่มเติม ก็สามารถนำไปสู่การลดภาษี และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตได้ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก สถานการณ์ในขณะนี้ ยังมีโอกาสที่พัฒนาไปได้หลายทิศทาง เราจึงคิดว่า ความผันผวนจะยังคงอยู่ในตลาดในช่วงนี้

KAsset แนะนำการลงทุน อย่างไร?
สำหรับท่านนักลงทุนทั่วไป KAsset แนะนำให้ "ชะลอการลงทุนในตราสารทุน" ในช่วงนี้ และอาจจะพิจารณาลดความเสี่ยงในหุ้นหรือภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษี

ตลาดตราสารหนี้ไทย
• การเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้จะส่งผลให้ไทยส่งออกยากขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลง ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าได้รับผลกระทบจำกัด จากสินค้านำเข้าที่ราคาถูกลงจากจีนซึ่งไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ
• การเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สามารถ อาจทำให้รัฐบาลต้องออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อระดมทุนมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันที่จำนวนมาก คาดว่าสามารถรองรับอุปทานตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจไทยชะลอตัวและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบจำกัดและอยู่ระดับต่ำในปัจจุบัน เพิ่มโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ซึ่งจะส่งผลดีต่อกองทุนตราสารหนี้ที่วางแผน ดูเรชั่นไว้ค่อนข้างยาว

แนะนำกองทุน K-SFPLUS สำหรับพักเงินระยะสั้น

ตราสารหนี้สหรัฐฯ 
• การเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สามารถทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ซึ่งในระยะสั้นอาจส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางต้องชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
• แต่ในระยะยาวอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และนำไปสู่การลดดอกเบี้ย ในด้านบรรยากาศการลงทุนจะมีความระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ
 
แนะนำกองทุน K-FIXEDPLUS : กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ดูเรชั่น 2-4 ปี ที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ


ที่มา: KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย 

ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2025​

คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน​


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สรุปผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs​​ >>Click​
วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทย หลังแผ่นดินไหว >>Click
จุดเปลี่ยนตลาดหุ้นโลก ลงทุนอย่างไร? >>Click
หุ้นสหรัฐฯร่วงยกแผง เกิดอะไรขึ้น? >>Click


No
4/3/2025
0
situation