8/5/2019

​​นับตั้งแต่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจโดยรวมของโลกมีแนวโน้มเปราะบางด้วยผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้า และเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่ที่ยังไม่ปรับขึ้นถึงระดับเป้าหมาย ธนาคารกลางประเทศแกนหลักต่างๆ จึงเริ่มเปลี่ยนโทนมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ในปีที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนทิศทางจากหน้ามือเป็นหลังมือของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาต่อการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางประเทศแกนหลักต่างๆ ในการดำเนินนโยบายทางการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่เครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้นั้นมีอะไรบ้าง 

มาตรการปรับลดดอกเบี้ย
นับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 อัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต่างพากันอยู่ต่ำ โดยจากภาพที่ 1 จะเห็นว่ามีเพียงสหรัฐฯที่เริ่มปรับขึ้น ขณะที่ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่นยังคงระดับต่ำหรือติดลบ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯเริ่มเปลี่ยนโทนมาส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้  ส่งผลให้ฝั่งเอเชียเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายสอดคล้องกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ (ปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา) และอินโดนีเซีย ( ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี) โดยจากภาพที่ 2 แสดงถึงเทรนด์การดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภาพของปีนี้จะเป็นแนวโน้มของการปรับลดดอกเบี้ย สวนทางกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมทั่วโลกยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น หากเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก อาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เหลือพื้นที่ไม่มากนักที่จะปรับลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในแง่ผลกระทบต่อบ้านเรา หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ย ย่อมส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้ากลุ่มประเทศเกิดใหม่อย่างเอเชีย โดยเฉพาะไทยซึ่งปีนี้มีปัจจัยหนุนจากพัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้น ประกอบกับการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI นับเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่าขึ้นซึ่งกดดันภาคการส่งออก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยได้มากนักในปีนี้ 

Picture1.png 

มาตรการ QE
คงเป็นที่รู้จักกันมามากแล้วกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) หรือหากจะอธิบายโดยย่อก็คือมาตรการที่รัฐบาลพิมพ์เงินออกมามหาศาลเพื่อซื้อสินทรัพย์เช่น พันธบัตร และตราสารหนี้  ของสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดการปล่อยกู้ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงการต่างๆ โดย QE จากฝั่งสหรัฐฯมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 7 ปี (2008 -2014) ผ่านการทำ QE  ถึง 3 ครั้ง และทำให้งบดุลโตจาก 9 แสนล้านเป็น 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางฝั่งยุโรปดำเนินรอยตามสหรัฐฯด้วยการทำ QE 4 ปี (2015 – 2018) ภายใต้วงเงินประมาณ 3  ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่สินทรัพย์ที่รัฐบาลเข้าซื้อก็มีความหลากหลายภายใต้มาตรการ QE ของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐฯจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities : MBS) ฝั่งยุโรปสามารถรวมถึงหุ้นกู้เอกชน ขณะที่ญี่ปุ่นจะรวมถึงการเข้าซื้อกองทุน ETFs และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 
เมื่อเงินในระบบเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้เกิดการแสวงหาที่ลงทุน และก็หนีไม่พ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย ซึ่งมีระดับราคาน่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งรวมถึงไทยเราเองด้วย จึงไม่แปลกที่จะเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าใทยตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ประเทศแกนหลักต่างใช้มาตรการ QE กัน

มาตรการดอกเบี้ยต่ำหรือติดลบ
เป็นอีกมาตรการที่ธนาคารกลางนำมาใช้กันหลังจากมีข้อจำกัดในการปรับลดดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารกลางให้กับธนาคารพาณิชย์จะติดลบ เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินฝากเหล่านั้นไปปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนแทน  ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ลดลงนั้นเองทำให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อ และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ท้ายที่สุดอาจบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากส่วนต่าง
ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แคบลง ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ของธนาคารลดลงได้ 

มาตรการ Yield Curve Control
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่นำมาตรการการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) มาใช้ในปี 2016 ควบคู่ไปกับการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) หลังจากที่มองว่าการใช้ดอกเบี้ยติดลบนั้นไม่สามารถทำให้พ้นจากภาวะเงินฝืดได้ โดยจะมุ่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ใกล้ระดับ 0% ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกรอบที่กำหนด โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเป็นเป้าหมายเช่นนี้ เป็นการควบคุมอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้นนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น ทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมการส่งผ่านนโยบายจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปสู่ตลาดในวงกว้างได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่มีการนำมาตรการนี้มาใช้ การเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินเยนดูผันผวนน้อยลง ดังเห็นได้จากภาพที่ 3


Picture2.png

มาตรการ Forward Guidance
Forward Guidance หรือ การส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ถึงแนวโน้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางตั้งใจไว้ โดยที่อาจจะไม่ต้องดำเนินจริงๆก็ได้ ตัวอย่างของการใช้มาตรการนี้ที่ชัดเจนคือในปี 2012 ที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป แถลงชัดเจนว่าจะทำทุกวิถีทาง (do  whatever it takes) เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะอยู่ในช่วงปี 2011 – 2012 ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางยุโรปจะไม่ปล่อยให้ระบบการเงินของประเทศปัญหาอย่างสเปนและอิตาลีต้องล้มละลาย ผลที่ตามมาคือเมื่อนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และกล้าเข้าลงทุน จนทำให้ท้ายที่สุดต้นทุนการกู้ยืมของสเปนและอิตาลีลดลง จนธนาคารกลางยุโรปไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรดังที่ตั้งใจแต่แรก 

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมตลาดการเงินโลกจะมีบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นจากความคาดหวังเชิงบวกต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแกนหลัก แต่ตลาดก็ได้รับรู้ไปมากแล้ว การเข้าลงทุนโดยขาดความระมัดระวังในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป โดยเฉพาะความไม่แน่นอนต่างๆที่ยังมีสูง ทั้งแนวทางการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องที่อาจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด อีกทั้งการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงราคาหุ้นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นมามากและ Upside เริ่มมีจำกัด นักลงทุนจึงควรระมัดระวัง (Cautious & Selective) และไม่ผลีผลามเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรจากข่าวดีระยะสั้นมากจนเกินไป

จัดทำ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 
โดย คุณพิมเพ็ญ อิศรางกูร ณ อยุธยา,  AFPT™
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย


Yes
8/5/2019