ปรัชญาด้านการลงทุน

ปรัชญาการลงทุน

ปรัชญาการลงทุนของ บลจ. กสิกรไทย

บลจ.กสิกรไทยยึดมั่นในปรัชญาการลงทุนตามแนวคิด 4 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนในระยะยาวให้กับลูกค้า

  1. การบริหารจัดการความเสี่ยงคือหัวใจสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ
    แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดคือการการทำผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอได้ในระยะยาว
  2. ตลาดไม่อยู่ในภาวะที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ตลอดเวลา (Inefficient Market)
    พฤติกรรมการตัดสินใจของผู้ลงทุนมีสาเหตุสําคัญมาจากอคติ (Bias) ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ในบางช่วงเวลาไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นโอกาสในการลงทุน
  3. ยึดหลักการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top-down) และการวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) โดยใช้ระบบการทำงานเป็นทีมซึ่งมีบุคคลากรที่มีทักษะความชำนาญเฉพาะทาง
    ทาง บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการวิเคราะห์จากบนลงล่าง (top-down) จะช่วยกำหนดสัดส่วนการกระจายน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว (Optimum asset allocation) และจากการที่มีทีมนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์ยาวนานและทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้สามารถทำการวิเคราะห์ในเชิงลึก ครอบคลุมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมและหลักทรัพย์ได้ (Bottom-Up) ทั้งนี้ในการวิเคราะห์จะมีการพิจารณาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพควบคู่กันไป
  4. กระบวนการลงทุนที่มีวินัยจะช่วยลดการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดจากอคติ (Bias)
    เนื่องจากตลาดทุนมีความผันผวนเป็นวัฏจักร การสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในระยะยาวต้องผ่านกระบวนการลงทุนที่เป็นระบบและมีวินัยเพื่อลดความผิดพลาดจากการตัดสินใจจากอารมณ์และอคติ

ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุน


เจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตามหลักธรรมาภิบาล

เจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตามหลักธรรมาภิบาล (Product Governance)


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล จึงจัดทำนโยบายการเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตามหลักธรรมาภิบาล (Product Governance Policy) ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานคณะก​รรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบ การเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบริษัท การคัดเลือกตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุน การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ตลอดจนการติดตามกองทุนรวมและตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุน โดยคำนึงถึงความต้องการและประโยชน์สูงสุดของกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมาย ความเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์กองทุนรวม การคัดเลือกช่องทางและผู้สนับสนุนการขายที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เสนอขาย


นโยบายการเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตามหลักธรรมาภิบาล (Product Governance Policy) มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและการจัดกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมาย
    1. จัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้มีความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า
    2. กำหนดช่องทาง การคัดเลือกตัวกลางและกระบวนการขาย ให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมาย
    3. กำหนดหรือระบุประเภทผู้ลงทุนที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน
  2. กระบวนการอนุมัติผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
    บริษัทแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการออกและการเสนอขายกองทุนรวมอยางรอบคอบ โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด

  3. การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและการให้ข้อมูลตัวกลางและผู้ลงทุน
    1. พัฒนาสื่อการขายที่เข้าใจง่าย และมีความเหมาะสมกับประเภทของผู้ลงทุนที่กำหนด เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสาร
    2. กำหนดกระบวนการให้ความรู้กับตัวกลาง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจลงทุนในผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
  4. การตรวจติดตามกองทุนรวมและตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุน
    1. ติดตาม และตรวจสอบความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมแต่ละประเภทกับกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
    2. ติดตามและตรวจสอบการทำหน้าที่ของตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าตัวกลางดังกล่าวได้มีการขายหน่วยลงทุนแก่กลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมาย และผู้ลงทุนมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์กองทุนรวมดังกล่าว และการจัดการเรื่องร้องเรียนที่เหมาะสม