8/6/2021

​มาตรการลดการผูกขาด ช่วยให้จีนผงาดอย่างยั่งยืนได้จริงหรือ?

​สำหรับผู้ลงทุนในตลาดหุ้นจีน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนที่เข้ามากำกับดูแลภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวราคาในตลาดหุ้นของจีน โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เริ่มเข้าแทรกแซงธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดมาตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดก็ได้เข้ามากำกับธุรกิจกลุ่มการศึกษาอย่างโรงเรียนกวดวิชาโดยให้เปลี่ยนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำให้เกิดความกังวลว่าธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าข่ายผูกขาดตลาดจะถูกดำเนินการเป็นรายต่อไป จึงส่งผลกระทบต่อ sentiment ตลาดโดยรวมเป็นอย่างมาก

 

การที่ทางการจีนออกกฏหมายต่อต้านการผูกขาดขึ้นมานั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะถูกเพ่งเล็ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตรวจสอบ Alibaba ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและปรับโทษฐานผูกขาดตลาดไปในปีนี้ รวมถึงยกเลิกสิทธิผูกขาด Tencent Music เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปเดือนเมษายน ธนาคารกลางจีนได้เรียกพบบริษัทผู้นำกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทั้งหมด 13 แห่ง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนและข้อมูลลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแอพพลิเคชัน TikTok อย่าง ByteDance, เจ้าของ Search Engine อย่าง Baidu และ Meituan แอพพลิเคชันจัดส่งอาหาร เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ปรับปรุงแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายของจีน และจะช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนต่อไป รวมถึงช่วยป้องกันพฤติกรรมการผูกขาดตลาดของบริษัทเหล่านี้ ไม่เพียงเท่านั้น มาเดือนกรกฎาคม ทางสำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (CAC) ก็ได้ทำการสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีของจีน 3 ราย ได้แก่ Boss Zhipin เจ้าของเว็บไซต์รับสมัครงานที่ใหญ่ที่สุดของจีน, Yunmanman และ Huochebang ทั้งสองบริษัทเป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชันเรียกใช้บริการรถบรรทุกที่เปรียบได้กับ Uber สำหรับรถบรรทุก โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลระดับประเทศ โดยในประเด็นของข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้านั้น ทางการจีนได้เรียกร้องให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่รวบรวมจากโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศ และเพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลจีนมีอำนาจในข้อมูลมากกว่าบริษัทสหรัฐฯ ในจีน

 

ล่าสุด ทางการจีนยังคงเดินหน้าต่อในการออกมาตรการเข้มงวดกับธุรกิจในประเทศ โดยเข้าควบคุมกลุ่มโรงเรียนกวดวิชา (After-school Tutoring - AST) ให้เปลี่ยนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลงเป็นอย่างมาก แต่หากย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศนโยบายลดการบ้านหลังเลิกเรียน อีกทั้งยังห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนในช่วงสุดสัปดาห์ และห้ามใช้หลักสูตรออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 6 ปีหรือต่ำกว่า ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณจากทางการจีนแล้วว่ากำลังจะเข้ามาแทรกแซงกลุ่มนี้ ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าการที่คนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาของจีนและเป็นภาคส่วนที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเติบโตในระยะยาว ดังนั้นนโยบายที่รัฐบาลจีนใช้จึงค่อนข้างมีความรุนแรงแตกต่างจากนโยบายที่ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ  และนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าไม่น่าจะเป็นแบบอย่างในการเข้าคุมเข้มกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี นโยบายจากทางการจีนก็ไม่ได้จะส่งผลทางลบเสมอไป ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลจีนได้ประกาศผ่อนปรนนโยบายควบคุมจำนวนประชากรอีกครั้งในรอบ 6 ปี ด้วยนโยบายลูก 3 คน หลังจากในปี 2015 มีการผ่อนปรนครั้งใหญ่ด้วยนโยบายลูก 2 คน จากการดำเนินนโยบาย One-Child Policy เพื่อควบคุมจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 1980 เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก เมื่อมองไปยังโอกาสในการลงทุน กลุ่มการบริโภค ทั้งกลุ่ม Consumer Staples ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ China Mengniu Dairy ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม  Wuliangye Yibin ผู้ผลิตและจำหน่ายสุราและไวน์ รวมถึงกลุ่ม Consumer Discretionary ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ Midea Group ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ Byd ธุรกิจหลักในการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว 

 

มาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นจีน ทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ เพราะการใช้มาตรการดังกล่าวมุ่งสร้างให้เกิดการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพควบคู่ไปกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เนื่องจากจีนต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในอนาคต

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน



Yes
8/6/2021