18/09/2566

บลจ.กสิกรไทย เปิดตัว 5 กองทุนกลุ่ม Wealth PLUS

เพิ่มทางเลือกเสริมพอร์ตให้รอดทุกความผันผวน​​​


บลจ.กสิกรไทย เผยภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มชะลอลง ในขณะที่ Fed มีโอกาสคงดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน ทำให้ตลาดทุนอาจยังคงมีความผันผวนจากการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคต จึงเสนอทางเลือกการลงทุนที่รับมือได้ทุกความผันผวนผ่านกองทุนกลุ่ม Wealth PLUS จำนวน 5 กองทุน ได้แก่ WP-LIGHT, WP-BALANCED, WP-SPARK, WP-SPEEDUP และ WP-ULTIMATE โดยมีนโยบายกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลก (Asset Allocation) ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ผ่านกองทุนรวมกสิกรไทยตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป เริ่มเปิดเสนอขาย 18 ก.ย.นี้

 

นายสุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการบริโภค การบริการ และการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับเงินเฟ้อทยอยลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสปรับขึ้นในอนาคต จึงยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นโลก อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ทยอยปรับลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ Fed มีโอกาสคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้นาน และจะพิจารณาพัฒนาการเงินเฟ้อในระยะถัดไป (Data Dependent) โดยช่วงที่นักลงทุนมีการปรับคาดการณ์ด้านอัตราดอกเบี้ย อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดตราสารหนี้และหุ้นได้

 

บลจ.กสิกรไทย จึงเสนอทางเลือกการลงทุนเพื่อให้พร้อมรับมือกับความผันผวนในทุกสภาวะตลาด ผ่านกองทุนน้องใหม่ภายใต้ชื่อ กองทุน Wealth PLUS ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนผสมที่มีการจัดพอร์ตการลงทุนแบบสำเร็จรูปในสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้เลือกตามสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีให้เลือก 5 กองทุน ได้แก่ WP-LIGHT, WP-BALANCED, WP-SPARK, WP-SPEEDUP และ WP-ULTIMATE ซึ่งทั้งหมดมีนโยบายกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภททั่วโลก (Asset Allocation) ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก ผ่านกองทุนรวมกสิกรไทยตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มีกำหนดเปิดเสนอขายตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 66 เป็นต้นไป

  

“สำหรับจุดเด่นของกองทุน Wealth PLUS นอกเหนือจากนโยบายการลงทุนที่เน้น การลงทุนแบบ Asset Allocation เพื่อให้สินทรัพย์แต่ละประเภททำหน้าที่สร้างผลตอบแทนในสภาวะตลาดที่แตกต่างกันแล้ว กองทุน Wealth PLUS ยังมี การปรับสัดส่วนการลงทุนในทุกๆ 3 เดือน อีกทั้งยังมี โมเดลควบคุมความเสี่ยง “Wealth PLUS Model" เพื่อป้องกันไม่ให้ผลตอบแทนติดลบหนักในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง โดยกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และรอจังหวะปรับสัดส่วนการลงทุนให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมอีกครั้งในไตรมาสถัดไป

 

ทั้งนี้ นอกจากกองทุน Wealth PLUS ที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้เป็นรายกองแล้ว ผู้ลงทุนยังสามารถเลือกใช้บริการ Wealth PLUS ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถกำหนดเป้าหมายการลงทุนได้ทั้งแบบปกติ และแบบ DCA ภายใต้ระบบการคัดเลือกกองทุนและระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละราย โดยระบบจะช่วยเตือนให้ผู้ลงทุนทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ อย่างไรก็ดี บริการ Wealth PLUS จะมีอยู่ในเฉพาะช่องทาง K PLUS เท่านั้น" นายสุรเดชกล่าว

 

นายสุรเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.กสิกรไทย จัดโปรโมชั่นพิเศษในโครงการออมเบอร์ 5 ให้กับเฉพาะลูกค้าใหม่ที่สนใจอยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุน Wealth PLUS เพียง 1) เปิดบัญชีกองทุนกสิกรไทยครั้งแรกพร้อมเริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท ภายใน 30 พ.ย. 66 และ 2) เริ่มลงทุนแบบ DCA ภายใน 29 ธ.ค. 66 โดยลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท/เดือน ต่อเนื่อง 12 เดือน โดยผู้ที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ จะได้รับ Fund Back เป็นหน่วยลงทุน K-CASH มูลค่า 500 บาท เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด นอกจากนี้ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ลงทุนในกองทุน Wealth PLUS ระหว่างวันที่ 18 ก.ย. 66 – 31 ต.ค. 66 ยังได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-end Fee) ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกช่องทางของกสิกรไทย และ/หรือ ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ KAsset Contact Center 0 2673 3888 หรือ ศึกษาข้อมูลเองที่เว็บไซต์ www.kasikornasset.com

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน • กองทุน WP LIGHT, WP BALANCED, WP SPARK, WP SPEEDUP, WP ULTIMATE อาจมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) และตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Notes) ทำให้อาจมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง เนื่องจากใช้เงินลงทุนในจำนวนที่น้อยกว่า จึงอาจมีกำไร/ขาดทุนสูงกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง • กองทุนอาจมีการลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) ทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย • กองทุนป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจ เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

 

ประเภท