ช่วงนี้หลายคนคงวุ่นอยู่กับการยื่นภาษีประจำปี 2564 และเตรียมตัวสำหรับการลดหย่อนภาษีในปี 2565 นี้กันอยู่ใช่ใหมครับ ทำให้เราได้รับคำถามจากนักลงทุนอยู่บ่อยครั้งว่า “เราควรซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีตั้งแต่ต้นปีเลยดีหรือไม่?" วันนี้ KAsset มีคำตอบ เพื่อให้การตัดสินใจของทุกคนง่ายยิ่งขึ้นครับ
ขั้นตอนที่ 1 ประเมินรายได้ทั้งปี
ก่อนอื่นเราต้องทำการประเมินรายได้ทั้งปีของเราก่อน ว่าเรามีรายได้ตามฐานที่ต้องเสียภาษีจำนวนเท่าไหร่ และสามารถแบ่งไปลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน
ขั้นตอนที่ 2 เลือกกองทุนที่จะใช้ลดหย่อนภาษี
หลังจากนั้นเราจะมาดูกันว่ากองทุนแต่ละประเภทสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน โดยเริ่มจาก
2.1 กองทุนประหยัดภาษี SSF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2.1 กองทุนประหยัดภาษี RMF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท*
หมายเหตุ สำหรับ RMF เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ขั้นตอนที่ 3 จัดสรรเงินลงทุน
เมื่อพิจารณาแล้วว่ากองทุนแต่ละประเภทสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเท่าไหร่ หลังจากนั้นเราก็มาจัดสรรเงินลงทุนของเราว่าควรลงทุนในกองทุนประเภทไหน มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เราได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีจากกองทุนนั้นๆ มากที่สุด
เนื่องจากไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทิศทางตลาดการเงินได้อย่างแม่นยำ การทยอยเข้าลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีตั้งแต่ต้นปีด้วยวิธี การลงทุนแบบ DCA หรือการทยอยลงทุนในจำนวนที่เท่าๆ กันอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนตลอดทั้งปี จะช่วยให้เราได้ผลประโยชน์จากภาษีครบถ้วน ไม่ต้องคอยจับจังหวะตลาด และสามารถเตรียมเงินไว้ลงทุนในแต่ละเดือนได้ล่วงหน้าอีกด้วย
ซื้อกองทุนเดียวกับกระจายไปหลายกองทุน แบบไหนดีกว่ากัน?
คำถามข้อนี้ ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงว่ารับได้มากน้อยแค่ไหน
- สำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง
อาจจะเลือกทุ่มลงทุนในกองทุนเดียวเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงขาดทุนได้มากเช่นกัน รวมถึงมีโอกาสที่กองทุนที่เข้าลงทุนอาจสร้างผลตอบแทนได้ต่ำกว่ากองทุนอื่นๆ
- สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงมากนัก
การลงทุนแบบกระจายไปในหลายกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน จะช่วยลดความเสี่ยงในภาวะตลาดผันผวน และกระจายโอกาสรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่หลากหลาย
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ “เป้าหมายการลงทุน" ว่าเราต้องการใช้เงินก้อนนี้ในช่วงเวลาใด เนื่องจากกองทุน SSF และ RMF มีระยะเวลาการถือลงทุนขั้นต่ำที่ค่อนข้างยาว รวมทั้งต้องการได้รับผลตอบแทนระหว่างทางหรือไม่
และที่สำคัญก่อนจะลงทุนอะไร อย่าลืมศึกษาข้อมูลของแต่ละกองทุนให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และวางแผนเป้าหมายการเงิน เพื่อให้การลงทุนของเราเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนลดหย่อนภาษี >>คลิก
