HIGHLIGHTS :
• กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปี
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม และคาดว่าจะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566
• การขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป จะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จำกัด เนื่องจากตลาดรับรู้ไปมากแล้ว
• การถดถอยของเศรษฐกิจ หากเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้ในภาพรวม เนื่องจากนักลงทุนจะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้
กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 สิงหาคม 2565 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่กรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้น 0.50% ต่อปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป มีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น ขณะเดียวกันมองว่าผลกระทบต่อไทยจากการที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว คาดว่าจะมีจำกัด แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม
ด้านเงินเฟ้อ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด
(ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย 10 สิงหาคม 2565)
มุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย และผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้
การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นไปตามที่ตลาด และ บลจ.กสิกรไทย คาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว โดยอัตราดอกเบี้นโยบายไทยจะเป็นขาขึ้นตามทิศทางของโลก consensus ตลาดคาดว่าปีนี้ กนง. จะปรับขึ้น 0.50-0.75% ไปที่ 1.00-1.25% และปีหน้าไปหยุดที่ 2.00-2.25%
ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ (Yield Curve) สะท้อนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วง 1 ปีข้างหน้าไปที่ระดับประมาณ 2.00% แล้ว ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป จะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จำกัด
จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าสหรัฐฯ
เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยยังล่าช้ากว่าของสหรัฐฯมาก จึงคาดว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้ากว่าสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง การขึ้นดอกเบี้ยที่มากจะสร้างภาระที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อระดับครัวเรือน
ทั้งนี้ โดยรวมมองว่าตลาดปัจจุบันไม่กังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วตลาดรับรู้ไปส่วนใหญ่แล้ว แต่กังวลต่อการถดถอยของเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้ในภาพรวม (เข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ)
มุมมองต่อการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ไทย
ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ไทยจะยังมีอยู่ตามทิศทางของโลก แต่มีแนวโน้มลดลงและน่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัดมากขึ้น จึงคาดว่าความผันผวนของราคา NAV กองทุนตราสารหนี้จะเริ่มลดลง และเห็นการฟื้นตัวของราคาที่ดี
การถือครองตราสารหนี้จนครบอายุยังคงได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินต้นเต็มจำนวน นอกจากนี้ กองทุนสามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยยะ ส่งผลดีกับพอร์ตในระยะยาว
ผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ ของ บลจ.กสิกรไทย
กองทุนตราสารหนี้ T+1 และ T+2: มีการทยอยปรับลดดูเรชั่นลงมาแล้ว อย่างไรก็ดี ความผันผวนของราคา NAV ในระยะสั้นอาจมีได้ แต่น่าจะจำกัด
กองทุนตราสารหนี้ Term Fund: ผลตอบแทนที่จะเสนอขายในกองระยะถัดไปไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเยอะ เพราะตลาดได้ Priced-in ไปก่อนหน้าแล้ว
ผลกระทบต่อ sector หุ้น
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยปกติจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นแบบค่อยไปค่อยไป และลูกหนี้ยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น คาดว่าทางธนาคารพาณิชย์อาจจะยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ทันที ผลกระทบในเชิงบวกน่าจะเห็นในปีหน้ามากกว่าในปีนี้ ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบจะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีหนี้อยู่ในระดับสูงและกลุ่มเช่าซื้อ เป็นต้น
คำแนะนำการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ไทย
สำหรับผู้ที่ต้องการพักเงินลงทุน จากความผันผวนในระยะนี้
- K-CASH (ถือ 3 วัน ขึ้นไป) สำหรับผู้ที่รับความผันผวนของราคา NAV ไม่ได้เลย
- K-SF (ถือ 3 เดือน ขึ้นไป) สำหรับผู้ที่รับความผันผวนของราคา NAV ได้เล็กน้อย โดยในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะได้ประโยชน์จากการที่กองทุนนำเงินที่ถือตราสารหนี้จนครบอายุไปลงทุนต่อในตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Asset Allocation
- K-CBOND (ถือ 1 ปี ขึ้นไป) และ K-FIXED (ถือ 1.5 ปี ขึ้นไป) สำหรับผู้ที่รับความผันผวนระหว่างทางได้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนจะสูงกว่ากองที่ดูเรชั่นสั้นอย่างมีนัยยะ แต่อาจมีการติดลบบางขณะได้
คำแนะนำการลงทุนกองทุนหุ้นไทย
- K-STAR ปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเมืองและเศรษฐกิจฟื้นตัว และ K-BANKING จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"