4/26/2018

เปิดปีจอมาไตรมาสกว่าๆ นักลงทุนหลายท่านที่ยิ้มรับผลตอบแทนจากการลงทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีไก่ คงเริ่มจะมีหุบยิ้มกันบ้างแล้ว เพราะตัวเลขที่บวกแรงๆกลับลดน้อยลงหรือถึงกับติดลบกันเลยทีเดียว บทความนี้จะพาย้อนกลับไปดูเรื่องเด่นๆที่มากระทบตลาดการเงิน และแนวทางการรับมือที่ถือเป็นกุญแจรับความผันผวนในตลาด

 

เดือนแรกของปีบรรยากาศการลงทุนยังหนุนสินทรัพย์เสี่ยง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดตลอดกาล ขานรับการปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจากนักวิเคราะห์หลายสำนัก จนมาช่วงต้นเดือนก.พ. ตลาดการเงินมาสะดุดระลอกแรก จากประเด็นความกังวลต่อเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวแรง จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ นับว่าเป็นการย่อตัวลงในระยะสั้นที่คาดการณ์ได้ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งยังอยู่ในช่วงขายทำกำไรได้ อีกทั้งหากดูจากกองทุนกลยุทธ์ Hedge Fund บางประเภทมีการขายออกมาก่อน (เช่น กลยุทธ์ Risk-Parity) สะท้อนให้เห็นว่าตลาดคาดการณ์ความผันผวนที่น่าจะมีต่อเนื่องในระยะสั้น หลังจากนั้นไม่นานช่วงกลางเดือนมี.ค.ตลาดก็มาสะดุดอีกครั้งระลอกสอง โดยครั้งนี้ประเด็นที่สร้างความกังวลเริ่มกระจายวงกว้างเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางการค้าโลกที่อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯและจีน 2 ประเทศมหาอำนาจที่พยายามจะทวงความเป็นธรรมทางการค้าให้กับประเทศตนเอง

 

เขยิบมาสงกรานต์ก็ยังไม่วาย ทำให้นักลงทุนร้อนๆหนาวๆ จากประเด็นสงครามทางการเมืองที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงจนบานปลายจนเป็นสงครามโลกได้ เนื่องจากเป็นการปะทะกันทางอ้อมระหว่างกลุ่มพันธมิตรมหาอำนาจกับรัสเซียที่มาหนุนหลังซีเรีย (สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส โจมตีทางอากาศรัฐบาลซีเรีย เพื่อตอบโต้ที่ซีเรียใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชน ทำให้รัสเซียเข้ามาหนุนซีเรีย) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย และอยู่ในวงจำกัดและไม่ยืดเยื้อ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์นี้ และสามารถปรับตัวบวกด้วยแรงหนุนจากคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยออกของไตรมาสแรก และตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟ

ื้นตัวในเชิงบวก

​ 

สิ่งที่พอจะสรุปได้จากช่วงที่ผ่านมา คือเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่อยากจะพบเจอ โดยหากแบ่งความไม่แน่นอนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเรื่องที่คาดการณ์ได้ระดับนึง อย่างแนวทางดำเนินนโยบายทางการเงินประเทศแกนหลัก ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่สามารถประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจและจากแถลงการประชุมที่ประธานธนาคารกลางมักจะออกมาส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบาย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้นยากที่จะคาดเดาและประเมินโอกาสที่จะเกิดหรือไม่เกิดได้ ดังประเด็นสงครามทางการค้า ซึ่งแม้ล่าสุดประธานาธิบดีจีนจะแสดงความมุ่งมั่นต่อมาตรการใหม่ในการขยายขอบเขตการปฏิรูปและการเปิดเสรีการค้า แต่หากการเจรจาที่ชัดเจนยังไม่เกิดระหว่างประเทศคู่กรณีก็ยากที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดได้ เช่นเดียวกับประเด็นสงครามทางการเมือง ที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

 

“ดังนั้น การลงทุนที่ดีและเหมาะสมสำหรับปีนี้  บลจ.กสิกรไทย ขอแนะนำเทคนิคง่ายๆ ที่ใช้ได้ตลอดทั้งปี นั้นคือ Asset Allocation หรือ การกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ เพื่อลดการกระจุกตัวของน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว และยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ  ที่สำคัญยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะเข้าลงทุนด้วย  เพราะในภาวะตลาดที่ผันผวนเช่นนี้  ผู้ลงทุนบางรายอาจใช้อารมณ์ในการตัดสินใจที่จะชื้อหรือขายตามภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น ส่งผลให้ตัดสินใจพลาดก็เป็นไปได้"

 

จัดทำ ณ วันที่ 24 เมษายน 2561 โดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกั (บลจ.กสิกรไทย)

 

 

 


Yes
4/26/2018
1!มุมมองเศรษฐกิจ!Economic Analysis!situation