10/8/2021

​"Common Prosperity" ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน นโยบายเพื่อคนจีนทั้งแผ่นดิน

​ย้อนกลับไปในปี 1978 ที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ตอนนั้นจีนมุ่งไปที่จะทำอย่างไรให้คนมีงานทำเพื่อจะได้มีรายได้และทำให้คนจนลดลง ขณะที่เพิ่มจำนวนเศรษฐีขึ้นมาให้เร็วที่สุด ในช่วงนั้นเราจึงเห็นจีนเติบโตเร็วด้วย GDP ขยายตัวที่เฉลี่ย 10% ต่อปีเป็นเวลานานกว่าสามทศวรรษ จนต่อมาตั้งแต่ปี 2010 จีนก็ได้ปรับเป้าการเติบโตจากเฉลี่ย 8% ต่อปี ลงมาเหลือ 5-6% ต่อปี จากที่ต้องการเติบโตแบบรวดเร็ว จีนได้ปรับมาเป็นการเติบโตที่ลึกและกว้าง คือต้องการที่จะทำให้ได้ทุกอย่าง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง มีแบรนด์สินค้าที่อยู่ในสายตาผู้บริโภคจากทั่วโลก และในที่สุดก็มาถึงช่วงปัจจุบัน ที่จีนต้องการที่จะเห็นการเติบโตแบบทั่วถึงและสมดุล และนั่นเอง ทำให้คำว่า “Common Prosperity" กลายมาเป็นคำที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันอย่างมาก


อันที่จริงหลักการความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity ไม่ใช่เรื่องใหม่ของจีน แต่เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ปี 1950 สมัยของประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตุง และถูกใช้อย่างแพร่หลายในปี 1980 สมัยประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ปัจจุบันประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งมีการกล่าวอย่างเป็นทางการมากกว่า 60 ครั้งในปีนี้ สิ่งสำคัญที่จีนอยากเห็นจากนโยบายนี้ก็คือ การลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่จีนกำลังหาทางแก้ไข โดยการกระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกันในบริบทของจีนนั้น ไม่ใช่การแบ่งรายได้ให้เท่าเทียมกันในแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม แต่จีนต้องการเห็นความมั่งคั่งที่ทั่วถึงแทนที่จะกระจุกอยู่ที่คนบางกลุ่มของประเทศ  


แน่นอนว่าปัญหาการเหลื่อมล้ำนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ซึ่งรวมถึงธุรกิจและผู้ประกอบการ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวชัดว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจที่มั่งคั่งจะต้องแบ่งปันความมั่งคั่งให้แก่สังคมมากขึ้น โดยเขาได้ให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการภาษีและการกระจายรายได้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลเมืองที่มีรายได้ปานกลาง เพิ่มรายได้ของคนจน และปรับรายได้ส่วนเกินอย่างมีเหตุผล รวมถึงขจัดรายได้ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทางการจีนก็ได้สนับสนุนอย่างชัดเจนโดยการให้บริษัทและบุคคลที่มีรายได้สูงตอบแทนสังคมมากขึ้นผ่านแนวคิด "Third Distribution" ซึ่งหมายถึงการกุศลและการบริจาค ควบคู่กับการดูแลแทรกแซงจากภาครัฐ ทำให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลายแห่งได้ประกาศบริจาคเพื่อการกุศลและสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัย อาทิเช่น บริษัทเกมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ Tencent Holdings และ Pinduoduo บริษัท E-commerce นอกจากนี้ ยังได้มีการทำโครงการนำร่องในมณฑลเจ้อเจียง หนึ่งในมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดของจีน หัวหอกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เป็นเขตสาธิตในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ลดช่องว่างรายได้ภายในปี 2025 เพื่อเป็นโมเดลนำไปใช้ทั้งประเทศ


แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายหลายอย่างที่ทางการจีนกำลังดำเนินเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการกระจายความมั่งคั่งนั้นจะทำให้หลายภาคส่วนธุรกิจต้องปรับตัวและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นการชะลอตัวได้ในระยะสั้น แต่อย่าลืมว่า Common Prosperity นั้น มีคำว่า “มั่งคั่ง" จีนยังต้องการเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโต นวัตกรรมใหม่ๆมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าจีนไม่ได้ต้องการจะทำลายคนรวยเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่คนที่รวยก่อนจะต้องไม่ทิ้งคนข้างหลัง ผู้นำจีนได้ทำให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่าเขาสามารถการขจัดความยากจนให้พ้นจากแดนมังกรได้แล้ว และนี่จะเป็น ความท้าทายอีกครั้งที่จีนจะแสดงให้โลกเห็นถึงความสามารถในการจัดการให้ประเทศเติบโตแบบมีคุณภาพและยั่งยืน


Yes
10/8/2021