9/19/2024

Fed ปรับลดดอกเบี้ย ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์

​Fed ลดดอกเบี้ย 0.50% ตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 11 ต่อ 1 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ Fed ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับปี 2568 และ 2569 คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ย 1.00% และ 0.50% ตามลำดับ

 

ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของ Fed มีดังนี้

  • ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ ลงเล็กน้อยมาที่ 2.0% จากเดิม 2.1% แต่สำหรับปี 2568 และ 2569 ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมิ.ย. ที่ระดับ 2.0% ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวยังคงอยู่ที่ 1.8%
  • ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า ลงมาที่ระดับ 2.6% และ 2.2% ตามลำดับ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% และ 2.3% ส่วนปี 2569 ยังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะถึงเป้าหมายที่ 2.0% เช่นเดิม
  • ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2567 2568 และ 2569 อยู่ที่ 4.4%, 4.4% และ 4.3% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. ที่ 4.0%, 4.2% และ 4.1% ส่วนอัตราว่างงานระยะยาวยังคงอยู่ที่ 4.2%

 

มุมมองการลงทุน

แม้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในครั้งนี้ จะเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่นับว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายของตลาดมากนัก อีกทั้งประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าไม่ได้กังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยนโยบายการเงินกำลังเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ตึงตัวลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ลดลง

KAsset มองว่าวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงของ Fed กำลังเริ่มต้นขึ้น และข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวในลักษณะ Soft Landing มากกว่าที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Recession) ซึ่งภาพเหล่านี้จะเป็นบวกต่อทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในระยะข้างหน้า โดยจะเห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ที่แม้จะปรับตัวลดลง (S&P 500 -0.29% และ Nasdaq -0.31% ณ 18 ก.ย.) แต่หุ้นในกลุ่ม Cyclicals (ปรับตัวตามวัฎจักรเศรษฐกิจ) ยัง Outperform หุ้นในกลุ่ม Defensive สะท้อนว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้

ซึ่งจากสถิติในอดีต การลดดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้หุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ในช่วง 12 เดือนหลังจากการลดดอกเบี้ยครั้งแรกหากไม่เกิด Recession และนอกจากหุ้นสหรัฐฯ ที่ KAsset ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Overweight แล้ว เราคาดว่าหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่จะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของ Fed เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอินเดีย และเวียดนาม จากแรงกดดันต่อค่าเงินที่ลดลง และจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น


มุมมองตลาดตราสารหนี้

สำหรับตราสารหนี้ KAsset ยังมีมุมมองเชิงบวกในระยะกลาง-ยาว เนื่องจากเป็นอีกสินทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์เมื่อเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง ทั้งในส่วนของอัตราผลตอบแทนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต และราคาตราสารหนี้ที่จะปรับตัวขึ้น เมื่อ Yield ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม แม้เรามองว่าการปรับลดลงของ Yield ในระยะข้างหน้าอาจจะจำกัด จากการที่ตลาด price in ไปพอสมควรกับการลดดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีหน้าแล้ว แต่ Yield ก็ยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีกในระยะข้างหน้าหาก Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม อีกทั้งการมีกองทุนตราสารหนี้ติดพอร์ตก็นับเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีด้วย


คำแนะนำการลงทุน

KAsset แนะนำลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เน้นกองทุนหุ้นในตลาดที่มีการเติบโตของกำไรโดดเด่น มีพื้นฐานเศรษฐกิจ และบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่ง ได้แก่

 

K-GSELECT : กองทุนหุ้นโลกตัวท็อป ลงทุนได้ทุกช่วงเวลา

K-USA : ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ 30-40 ตัว ที่เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย

K-INDIA : โอกาสเติบโตไปกับตลาดหุ้นอินเดียที่ปรับตัวได้อย่างโดดเด่นในปีนี้

K-VIETNAM : ลงทุนตรงในหุ้นเวียดนาม ดาวเด่นอาเซียน

 

รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง เพื่อรับมือกับความผันผวน ได้แก่ กลุ่มกองทุน K-WealthPLUS Series สำหรับเป็น Core Portfolio โดยให้น้ำหนัก 80% ของพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว

 

K-WPBALANCED : ลงทุนผสมแบบบาลานซ์ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ 55-85% หุ้น 15-45% เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่อยากเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตมากขึ้น จากการลงทุนหุ้นบางส่วน

K-WPSPEEDUP : ลงทุนผสม เน้นสัดส่วนในหุ้นมากขึ้น 50-80% เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ไม่อยากให้พอร์ตเหวี่ยงมากไป

K-WPULTIMATE : ลงทุนผสม เพิ่มสัดส่วนหุ้นได้เต็มแม็กซ์ถึง 100% เหมาะกับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้สูง เพื่อโอกาสทำกำไรให้พอร์ตเติบโต

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com / กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

 

ที่มา: KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2567​

Yes
9/19/2024
none