7/5/2019



​​​​​​​​หากพูดถึงการลงทุนระยะยาว หลายคนอาจจะนึกถึงการซื้อหรือลงทุนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แล้วทิ้งไว้ยาวๆ เพื่อรอผลตอบแทนเพียงมิติเดียว แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของการลงทุนระยะยาวในอีกมิติคือ เมื่อลงทุนไปแล้ว ต้องตอบโจทย์ทั้งการสร้างผลตอบแทนระยะยาว และต้องปลอดภัยหรือได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงระยะสั้นน้อยที่สุด 


เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่เพียงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังเท่านั้น แต่ความสบายใจระหว่างทาง ก็เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนคาดหวังเช่นกัน

สอดคล้องกับมุมมองของ KAsset  ที่เชื่อว่า “การลงทุนระยะยาว โดยมองข้ามความเสี่ยงระยะสั้นที่เกิดขึ้นระหว่างทาง จะเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้” และ “Megatrends” คือคำตอบที่ KAsset เชื่อว่าจะตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ลงทุนได้

นี่คือ 4 Megatrends ที่ KAsset เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และคนทั่วโลกจะต้องอยู่กับมันไปอีกนานแสนนาน  ซึ่ง Megatrends ที่ว่านั่น ประกอบด้วย

1. การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) 
2. นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Technological Innovation) 
3. ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (Resource Scarcity) 
4. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคม (Demographic & Social Change)

“ถ้าเราเข้าใจ  Megatrends ว่ามันมีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้าง เราเชื่อว่าจะสร้างโอกาสการเติบโตได้ดีและยั่งยืนกว่าในระยะยาว ดังนั้น หากเราสามารถลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จาก Megatrends เหล่านี้ได้ ความเสี่ยงระยะสั้นที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เราก็ตัดมันออกไปได้เลย”

พูดถึง Megatrends ในภาพใหญ่ นักลงทุนอาจจะไม่เห็นภาพว่า ถ้าจะต้องเอาเงินไปลงทุน แล้วอะไรบ้างที่เราสามารถลงทุนได้?

งานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead  ซึ่งจัดโดย KAsset เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายเทรนด์ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งจะสร้างทั้งความท้าทาย และสร้างโอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกมาบอกเล่า ผ่านมุมมองของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พร้อมเหล่ากูรูทั้งในและต่างประเทศ
 
เริ่มที่เรื่องหลักของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้กันก่อน กับ “ภาวะสงคราม” ที่ขณะนี้ปะทุพร้อมกัน 3 ศึก ได้แก่ 
สงครามแรก คือ สงครามระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่าและเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) 
สงครามที่สอง คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน 
และสงครามที่สาม คือ สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์
น่าสนใจว่าสงครามทั้ง 3 ศึก ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ หรือใครจะได้รับผลกระทบ และหากเกิดขึ้นแล้ว จะสร้างโอกาสอะไรให้กับผู้ลงทุนได้บ้าง?

ff-23_resize.jpg

ดร.สันติธาร ได้วิเคราะห์สงครามทั้ง 3 ศึกเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

สงครามระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่าและเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย Data หากใครสามารถนำทั้ง 2 แนวคิดมาประยุกต์รวมกันได้ น่าจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจอยู่รอดและแข่งขันได้ เช่น ธุรกิจธนาคาร ที่เคยพึ่งสาขามาก่อน แม้ทุกวันนี้ความจำเป็นของสาขาจะน้อยลงไป แต่ถึงอย่างไร​ก็ยังต้องมีอยู่ และในขณะเดียวกัน หากสามารถนำ Data มากลั่นหรือก่อให้เกิดประโยชน์ได้ โอกาสก็จะมีมากขึ้น  ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สงครามระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่าและเศรษฐกิจยุคใหม่ ไม่มีฝ่ายไหนชนะ

สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่กำลังสร้างความกังวลไปทั่วโลก มีการประเมินว่า สงครามนี้ไม่ใช่ Trade War หรือ Tech War แต่อย่างใด แต่เป็นสงครามแย่งชิงความเป็นประเทศมหาอำนาจกันมากกว่า ซึ่งข่าวร้ายของเรื่องนี้ คือ เราจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปอีกหลายปี ในอีกมุมหนึ่งก็มีข่าวดีคือ ประเทศใน “อาเซียน” คือกลุ่มประเทศที่ถูกมองว่าจะได้รับอานิสงส์จากความขัดแย้งในครั้งนี้

สุดท้าย สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เรื่องนี้ก็ไม่มีฝ่ายไหนเป็นผู้ชนะเช่นกัน แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่า บทบาทของมนุษย์จะอยู่ตรงไหนในยุคที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายๆ เรื่อง แต่อย่าลืมว่า มิติของมนุษย์ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความเมตตากรุณา (Compassion Needed) ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ องค์กร และประเทศ ขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไร้ความขัดแย้ง ดังนั้น ประเด็นนี้ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพคน ด้วยการศึกษา จะสร้างคุณค่าให้กับมนุษย์ ในยุคที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในหลายๆ เรื่อง

หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่าภายใต้ศึกสงครามที่เราต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้สร้างโอกาสการลงทุนให้เราหลายๆ ธีมลงทุนด้วยกัน สอดคล้องกับมุมมองของ KAsset ที่เชื่อว่า โลกอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วย “Megatrends”

อย่างเช่น ตัวเลขการอพยพของประชากรทั่วโลก ที่พบว่าในทุกๆ 1 สัปดาห์ จะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ก็เป็นข้อมูลที่สนับสนุนการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ได้อย่างชัดเจน และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคต สถานะของประเทศจะถูกแทนที่ด้วยหัวเมืองใหญ่ เช่น ทำงานที่เซียงไฮ้ (แทนที่จะบอกว่าที่ประเทศจีน) หรือไปเที่ยวพักผ่อนที่กรุงเทพฯ (แทนที่จะบอกว่าที่ประเทศไทย)  เป็นต้น

ff-36_resize.jpg

อีกหนึ่งธีมลงทุนที่สนับสนุนเทรนด์ Urbanization คือ การขยายตัวของธุรกิจรับดูแลสัตว์เลี้ยง (PET Industry) ในสหรัฐฯ ซึ่ง Allianz Global Investors ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2010-2017 ธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตขึ้นมาถึง 5.2% และยังส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจอาหารสัตว์ขยายตัวตามไปด้วย

และแน่นอนว่า การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่นำด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Technological Innovation) ก็สร้างธีมลงทุนใหม่ตามมาอีกหลายธีม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI บริษัทด้าน Robotic Company ที่ปัจจุบัน สมองกลเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม

ขยับมาดูเรื่องใกล้ตัว อย่างการเกิดขึ้นของ Platform ชื่อดัง ก็เป็นธีมลงทุนใหม่ๆ ที่เกิดภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเช่นกัน ความน่าสนใจของมันคือ Platform เหล่านี้ เติบโตได้โดยไม่ต้องมีทรัพย์สิน ไม่ต้องมีเครื่องจักรหรือโรงงานขนาดใหญ่ อาศัยเพียง Data จากจำนวนผู้ใช้งานหรือ User เท่านั้น และยิ่งจำนวน User มีมากเท่าไหร่ มูลค่าของ Platform นั่นก็จะยิ่งสูงขึ้น อย่างเช่น ธุรกิจ E-commerce หรือ Social Media เป็นต้น

ยังมีอีกหลายธีมลงทุนที่เกิดขึ้นภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเป็นธีมลงทุนที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระยะอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) รวมถึงไปธุรกิจเกมส์ออนไลน์ (E-Sport) ที่ขยายตัวตามพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลก

อีกหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด (Resource Scarcity) ก็สร้างธีมลงทุนใหม่เกิดขึ้นเช่นกัน อย่างเช่น กรณีของ Ørsted บริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์ก ที่สามารถจัดการแปลงพลังงานลมในทะเล มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออย่างผู้ผลิตหลอดไฟรายใหญ่ของโลกอย่าง Phillips ที่พัฒนาเทคโนโลยี LED มาใช้ในอุตสาหกรรมแสงสว่าง จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านการประหยัดพลังงานของโลกในปัจจุบัน

ff-45_resize.jpg

Baillie Gifford ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในธุรกิจยั่งยืนให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างของธุรกิจที่เข้ามาเปลี่ยนโลกเหล่านี้ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ไม่แพ้การลงทุนอื่นๆ อย่างในปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดทุนทั่วโลกผันผวน แต่ผลตอบแทนของกองทุนที่ Baillie Gifford บริหารอยู่ทำผลตอบแทนได้ถึง 30.3% ในขณะที่ดัชนี MSCI AC World Index ทำผลตอบแทน 2.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน

วกกลับมาดู Megatrends ที่จะสร้างโอกาสจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ซึ่ง KAsset มองเห็น 8 Megatrends ที่กำลังเกิดขึ้น ดังนี้

1. Infrastructure Spending (การใช้จ่ายเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ)
2. Supply Chain Relocation (การย้ายฐานการผลิต)
3. Innovation (นวัตกรรม)
4. Digitalization (การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล)
5. Aging Society (สังคมผู้สูงอายุ)
6. Green Energy (พลังงานสีเขียว)
7. Sustainable Investment (การลงทุนหุ้นยั่งยืน)
8. Urbanization (การขยายตัวของเมือง)

โดย KAsset มองว่า มีอยู่ 2 การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลมากที่สุดในระยะเวลาอันใกล้นี้ นั่นคือ Infrastructure Spending และ Digitalization

เหตุผลเพราะไทยห่างหายจากการใช้จ่ายเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure Spending) ขนาดใหญ่ มาเป็นระยะเวลานาน โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นก็ทยอยลดลงมาโดยตลอด ก่อนจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว และแม้จะยังไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากนัก เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในโครงการขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แต่แผนการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นและชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ด้วยวงเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของ GDP จึงเชื่อว่า Infrastructure Spending จะเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 5-7 ปีข้างหน้า

ในขณะที่การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคงเป็นเรื่องของ E-commerce ที่เติบโตด้วยอัตราก้าวกระโดดโดยเฉลี่ยปีละกว่า 13% ใน 4 ปีที่ผ่านมา และมีมูลค่ารวมในปัจจุบันถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 3% เท่านั้น และแน่นอน ธีมลงทุนนี้ต้องยอมรับว่า ได้รับปัจจัยบวกอย่างมากจากการเข้าถึง Internet ของคนไทย บวกรวมกับระบบ Mobile e-payment ของสถาบันการเงิน ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกัน

ff-59_resize.jpg

ส่วน Megatrends ที่เหลือก็มีความสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังนี้

Supply Chain Relocation : การย้ายฐานการผลิตไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาพความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้การย้ายฐานเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากมองโอกาสในประเทศอาเซียน ก็มีการคาดการณ์ว่า เวียดนาม จะเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจมากที่สุด รองลงมาเป็นประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ

Innovation : หากเราดูสัดส่วนการลงทุนเกี่ยวกับการการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ของไทยเทียบกับ GDP จะพบว่า อยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำอยู่ราว 0.5% เท่านั้น และถึงแม้จะสูงกว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังต่ำกว่าอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนสูงถึง 2.5-4% ประเด็นนี้เอง ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนใน R&D มากขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน ยังพบด้วยว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญและมีการลงทุนกับเรื่องนี้มากที่สุด ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มยานยนต์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

Aging Society : แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 17% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัดส่วนเพียง 8-10% แต่ก็พบว่าภาคบริการเพื่อผู้สูงอายุในไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่มาก 

Green Energy : ถือเป็นธีมลงทุนที่เติบโตชัดเจนมากเช่นกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทของไทยมีการใช้เงินลงทุนทางด้านนี้ค่อนข้างมาก สอดคล้องกับแผน PDP (แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) ของภาครัฐ ที่มีเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 20% ภายในปี 2025 ส่วนเรื่องของ EV Car หรือรถยนต์ไฟฟ้า แม้จะมีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงความสนใจที่ลงทุนมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่าง Storage Battery ด้วย แต่เราก็มองว่าโอกาสเหล่านี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น สะท้อนได้จากการคาดการณ์ยอดขายรถใหม่ ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนของรถพลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ 1% เท่านั้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

Sustainable Investment : ถือเป็นอีกหนึ่งธีมลงทุนที่ได้รับความสนใจจากทั้งฝ่ายกำกับตลาดทุนและผู้ลงทุน โดยอ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบริษัทจดทะเบียนในไทยที่อยู่ในรายชื่อ Thailand Sustainability Investment (รายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG) มีจำนวนมากถึง 73 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมาร์เก็ตแคปสูงถึง 60% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย และมียังถึง 20 บริษัท ที่ถูกคำนวณอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกอย่าง DJSI (Dow Jones Sustainability Index) อีกด้วย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างมาก ที่ผู้ลงทุนไทย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เพียงแค่เราจะใช้ชีวิตประจำวัน ไปพร้อมๆ กับ Megatrends เหล่านี้ได้อย่างราบรื่นเท่านั้น แต่เรายังมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว จากการเติบโตของ Megatrends เหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน
Yes
7/5/2019