4/5/2022

รู้จักเครื่องมือบริหารสภาพคล่องกองทุนรวม ตัวช่วยปกป้องผลประโยชน์ของกองทุน 

​​​

จากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุนทั่วโลก โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมด้วยเช่นกัน  หากนักลงทุนเกิดความกังวลและเทขายกองทุนที่ถืออยู่ อาจทำให้กองทุนรวมต้องเทขายสินทรัพย์ออกในสภาพตลาดและราคาที่ไม่ปกติ ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกับกองทุน และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้ทำรายการซื้อขาย ซึ่งอาจกระทบต่อการไถ่ถอนหน่วยลงทุนตามมาในวงกว้าง

การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากองทุนรวมมีสภาพคล่องเพียงพอสามารถรองรับการไถ่ถอนของผู้ถือหน่วย และสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยโดยรวม ดังนั้น  สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุนจึงได้ออกมาตรการเพื่อยกระดับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยกำหนดให้ บลจ. มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมที่หลากหลาย เพียงพอ เหมาะสมกับลักษณะของกองทุน และสามารถเลือกใช้งานเครื่องมือได้อย่างเหมาะสมตามความหนักเบาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม และลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายแก่กองทุน รวมถึงความเสี่ยงต่อระบบการเงินในวงกว้าง

7 เครื่องมือสำหรับการบริหารสภาพคล่อง ที่กองทุนรวมสามารถเลือกใช้ได้ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีดังนี้

1. Liquidity Fee - การเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนเกินจำนวนหรือเงื่อนไขที่กำหนด

2. Swing Pricing - การปรับ NAV ที่ใช้คำนวณราคาซื้อขายหน่วยลงทุนให้สะท้อนต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุน

3. Anti-dilution Levies (ADLs) - การเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุน

4. Notice period - การกำหนดให้ผู้ถือหน่วยแจ้งขายคืนหน่วยลงทุนล่วงหน้าตามเงื่อนไขของกองทุน

5. Redemption Gate - การจำกัดการขายคืนหน่วยลงทุนไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้

6. Side Pocket - การแยกตราสารที่ขาดสภาพคล่องออก ไม่นำมาคำนวณ NAV

7. Suspension of Dealings - การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว

ทั้งนี้ บลจ.จะดำเนินการใช้เครื่องมือบริหารสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวม โดยคำนึงถึงการดูแลและปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของกองทุนและผู้ถือหน่วยเป็นสำคัญ สอดคล้องกับหลักความไว้วางใจ (Fiduciary) และการกำกับดูแลที่ดี

สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจสอบเครื่องมือบริหารสภาพคล่องได้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม หรือศึกษารายละเอียดของเครื่องมือบริหารสภาพคล่องที่กองทุนรวม ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่  >>Click 


ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2565

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

-เมื่อ SCB แลกหุ้นเป็น SCBx กระทบอะไรบ้าง? >>อ่านรายละเอียด




Yes
4/5/2022