1/23/2019

​เวลาผ่านไป...ทำไม NAV กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แบบ Leasehold ยิ่งลดต่ำลงเรื่อยๆ​

​​เมื่อเอ่ยถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่ผู้ลงทุนมักจะนึกถึงเป็นอย่างแรก มักจะเป็นคำถามที่ว่า กองทุนมีการจ่ายเงินปันผลดีไหม จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน และก็มักจะย้อนไปดูข้อมูลในอดีตว่า ในการจ่ายแต่ละครั้ง ผู้ลงทุนได้รับเงินคืนเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมกองทุนรวมอสังหาฯบางกอง เมื่อเวลายิ่งผ่านไป มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ( NAV) ของกองทุนจึงลดต่ำลงเรื่อยๆ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า แร​กเริ่มเดิมทีสมัยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดให้จัดตั้งขึ้น 2 รูปแบบ คือ แบบ Freehold และ Leasehold


กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบ Freehold เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนโดยการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นเจ้าของ และนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ดังนั้น กองทุนรวมประเภทนี้จึงมีกรรมสิทธิ์เต็มที่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ไปลงทุน และเมื่อเลิกกองทุนแล้วก็สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ออกไปแล้วนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ด้วย และหากมูลค่าการขายอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงกว่าตอนที่กองทุนเข้าไปซื้อ มูลค่าหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับคืนจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบ Leasehold จะลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน มีเพียงสิทธิในการนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปหาผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าที่กองทุนได้ตกลงไว้กับเจ้าของ เช่น 20 ปี และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ต้องคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของ ยกตัวอย่าง​ง่ายๆ เช่น การที่คุณเซ้งตึกระยะเวลา 20 ปี เพื่อทำการค้า เมื่อเวลาผ่านไป ระยะเวลาในการหาประโยชน์จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผลให้ราคาเซ้งตึกลดลงไปด้วยตามระ​ยะเวลาที่เหลือน้อยลง จนเป็นศูนย์ ณ วันที่ครบอายุสัญญาเซ้งตึก ในทำนองเดียวกันกรณีกองทุนรวมแบบ Leasehold มูลค่าสิทธิการเช่าจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่เหลืออยู่ ซึ่งเมื่อนำมูลค่าสิทธิการเช่ามาคำนวณแล้ว NAV จะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ จนเป็นศูนย์ ณ วันที่ครบอายุสัญญาเช่านั่นเอง

ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

การจ่ายเงินคืนเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ถ้าเป็นกองทุนรวมอสังหาแบบ Freehold ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ซึ่งกองทุนได้รับรายได้มาจากค่าเช่าจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ผลตอบแทนยังอยู่ในรูปของมูลค่าเพิ่มจากการขายอสังหาริมทรัพย์ (Capital Gain) อีกด้วย 

ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แบบ Leasehold จะมีการจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เงินปันผล และการลดทุน (หรือการคืนเงินต้นบางส่วน) ซึ่งผู้ลงทุนบางท่านอาจมองข้ามรายละเอียดของการลดทุนไป และเ​ข้าใจว่า เงินที่ได้รับทั้งก้อนนั้นเป็นเงินปันผลทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปและกลับมาดูอีกที ก็อาจจะตกใจว่า ทำไมเงินต้นที่ลงทุนถึงหายไปเรื่อยๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ผู้ลงทุนอาจลืมไปว่า ตนได้ทยอยรับเงินต้นคืนมาเรื่อยๆแล้วจากการลดทุนนั่นเอง 

การพิจารณาจ่ายเงินปันผล กับเงินลดทุนของกองทุน มีหลักการในการพิจารณาจ่ายเงินอย่างไร  

ปกติกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนได้ ก็จะนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือนำไปใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และบริหารให้เกิดรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือค่าเช่า เมื่อครบรอบระยะบัญชีที่กำหนดไว้ (อาทิ ทุกไตรมาส หรือทุกหกเดือน) กองทุนก็จะมีการพิจารณาการจ่ายเงิน โดยในขั้นแรก กองทุนจะพิจารณาก่อนว่า มีกำไรสุทธิมากน้อยแค่ไหนในรอบบัญชีที่ผ่านมา ซึ่งคำนวณจากรายได้ค่าเช่าที่กองทุนได้รับ หักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุน จากนั้น กองทุนก็จะพิจารณาจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ เป็นผลตอบแทนส่วนแรกของผู้ลงทุน หรือเรียกว่าเงินปันผลนั่นเอง

หลังจากพิจารณาจ่ายเงินปันผลแล้ว กองทุนจะยังมีการพิจารณาเพิ่มเติมอีกขั้นหนึ่ง ว่าปัจจุบันกองทุนมีสภาพคล่อง หรือเงินสดส่วนเกินหรือไม่ ซึ่งหากกองทุนมีสภาพคล่องส่วนเกิน ก็สามารถพิจารณาลดทุนเพื่อจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนได้ โดยตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. กองทุนจะสามารถลดทุนได้จากสภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากหลายกรณี เช่น 1)กรณีมีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 2)กรณีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าที่กองทุนรวมลงทุนไว้ ลดลงจากการประเมินค่า หรือการสอบทานการประเมินค่าทรัพย์สิน 3)กรณีที่กองทุนมีรายการทางบัญชีที่เป็นรายการค่า​ใช้จ่ายรอการตัดบัญชีซึ่งทยอยตัดจ่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลและลดทุน จะมีการประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า เงินส่วนใดเป็นเงินปันผล และเงินส่วนใดเป็นเงินลดทุน โดยในส่วนของเงินปันผล จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10%* แต่ในส่วนของเงินลดทุน จะไม่ถูกหักภาษี ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลและลดทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดจากเงินปันผลเป็นเท่าใด และเป็นการรับเงินต้นคืนเท่าใด เพื่อที่จะได้ใช้ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างถูกต้อง โดยเมื่อมีการจ่ายเงินลดทุน เท่ากับว่าเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะปรับลดลงด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาฯ แบบสิทธิการเช่า (Leasehold)  หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้มีการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ กองทุนจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆจนกลายเป็นศูนย์ เมื่อสิ้นสุดอายุกองทุน (อาทิ 15 ปี หรือ 20 ปี ตามอายุที่กำหนดไว้ในโครงการ) ในขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีการถือกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ (Freehold) การลดทุนอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะมูลค่าสินทรัพย์ จะไม่ลดลงเป็นศูนย์ 

กล่าวโดยสรุป การลดทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องปกติ ที่มักเกิดจากการที่กองทุนมีสภาพคล่องคงเหลือ ซึ่งกองทุนสามารถนำมาจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนได้ เมื่อมีการลดทุนแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุน ก็จะลดลง และจะส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงไปด้วย

หมายเหตุ : *เงินปันผลของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
จัดทำโดย  ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)​​​



Yes
1/23/2019