9/9/2021

​ทิศทางการลงทุนเมื่อ Fed เตรียมทำ QE Tapering

​เหตุการณ์สำคัญของตลาดการเงินที่ผู้ลงทุนทั่วโลกจับตาและให้ความสำคัญตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงในช่วงเวลาที่เหลือของปี 64 คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณเตรียมปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ภายในปีนี้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เหลือการประชุมอีก 3 ครั้งในปีนี้ นั่นคือ เดือนกันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม​

หลังจากที่ Fed เดินหน้าทำ QE มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2563 นับเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า ที่ Fed ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากมาโดยตลอด ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจาก 1.50% - 1.75% มาอยู่ที่ 0% - 0.25% ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน อีกทั้งทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงินในช่วงแรก และต่อมาจำกัดที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถกลับมาเติบโตได้หลังเผชิญวิกฤติ ปัจจุบันตัวเลขทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปในทิศทางที่ FOMC คาดการณ์ไว้  โดยปัจจัยที่ Fed คำนึงเป็นหลักคือ ภาพรวมการจ้างงานที่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และการขยายตัวของ GDP ทำให้ Fed มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯได้อยู่ในจุดที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนโยบายของ Fed อีกต่อไป และการลดวงเงิน QE จะเป็นนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมในปลายปีนี้

ล่าสุดจากการประชุมประจำปีของ Fed ในวันที่ 26-28 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธาน Fed ได้ส่งสัญญาณที่เป็นไปตามตลาดคาดว่ามีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเป้าหมายแล้วก็ตาม แต่ยังต้องติดตามดูตลาดแรงงานให้บรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพ ดังนั้นการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ จะเป็นการประชุมที่ตลาดจับตาดูเป็นพิเศษถึงมุมมองและท่าทีการส่งสัญญาณของคณะกรรมการ FOMC โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่ามีแนวโน้มที่ทาง Fed จะประกาศแนวทางการปรับลด QE อย่างเป็นทางการในการประชุมเดือนกันยายนหรือพฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มลดครั้งแรกภายในปีนี้ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นอย่างเร็วปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 

ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของตลาดการเงิน ในอดีตการทำ QE Tapering ช่วงปี 2556-2557 ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีการปรับฐานลงเล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ปรับตัวลงมากกว่า ก่อนจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นได้ในเวลาต่อมา ขณะที่หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ธันวาคม 2558 ต่อมาในปี 2559 – 2560 เป็นปีที่ทุกสินทรัพย์สามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ 

KAsset มีมุมมองต่อภาพรวมการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น (Normalization) ทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก (สหรัฐฯและจีนได้ผ่านอัตราการเติบโตสูงสุดไปแล้ว ขณะที่ยุโรปกำลังเข้าสู่จุดสูงสุด) และนโยบายการเงินต่างๆ ที่ได้มีการผ่อนคลายมาในช่วงก่อนหน้านี้จะมีการปรับลดความผ่อนคลายลงซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดเป็นระยะๆ จึงทำให้เรามีมุมมองในระยะถัดไปว่าอัตราผลตอบแทนของตลาดโดยรวมจะปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ความผันผวนในตลาดจะเกิดจากปัจจัยการปรับเปลี่ยนนโยบายของ Fed หากปริมาณการลด QE เยอะกว่าคาด หรือขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือการขาดแคลนวัคซีนที่ไม่เพียงพอหรือมีประสิทธิภาพต่ำ ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะขยายตัว ดังนั้น หุ้นจะยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้อยู่ และน่าสนใจกว่าตราสารหนี้ในเชิงเปรียบเทียบ 

โดย KAsset มีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นจีนและเอเชียมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง Valuation ของตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังน่าสนใจ ส่วนต่างปัจจุบันของระดับ PE ของตลาดพัฒนาแล้วกับตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 20% สูงสุดในรอบ 20 ปี เทียบได้กับเหตุการณ์ Tech bubble ปี 2543 ที่ตลาดหุ้น Nasdaq เผชิญภาวะการเก็งกำไรอันเกินควรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีความแตกต่างกับปัจจุบัน โดยครั้งนั้นตลาดเกิดใหม่ย่ำแย่ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ปัจจุบันไม่มี อีกทั้งฐานะทางการคลัง ทางการเงิน ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อยู่ในระดับที่ดีมาก มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือน คือ ระดับราคาของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นมาสูง โดยหลังจาก 10 ปีถัดมาจากเหตุการณ์ Tech Bubble พบว่าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่เป็นตลาดที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด 

สำหรับคำแนะนำการลงทุนภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเช่นนี้ KAsset ยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภททั่วโลกผ่าน K-GINCOME และ K-GA เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต ส่วนที่เหลือสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง สามารถใช้โอกาสจากช่วงที่ตลาดย่อทยอยเข้าลงทุนกองทุนหุ้นจีนหรือเอเชียได้ ไม่ว่าจะเป็น K-CHINA ที่ลงทุนในหุ้นจีนครอบคลุมทุกตลาดทั่วโลก (All China) เช่น หุ้นจีน A-Shares, H-Shares และหุ้นจีนที่จดทะเบียนในอเมริกา (ADR), K-CCTV ที่ลงทุนในหุ้นจีน A-Shares โดยมีโมเดลควบคุมความเสี่ยงที่ผู้จัดการกองทุนของ KAsset จะคอยปรับพอร์ตให้ตลอดเวลา, K-CHX ที่ลงทุนในหุ้นจีน A-Shares โดยมีกลยุทธ์การบริหารเชิงรับ (Passive) ซึ่งมุ่งหวังผลตอบแทนอ้างอิงตามดัชนี FTSE China A50, K-ASIACV กองทุนหุ้นเอเชียหนึ่งเดียวที่มีโมเดลบริหารความเสี่ยงช่วยลดความผันผวน และ K-ASIAX กองทุนน้องใหม่ ลงทุนในหุ้นชั้นนำทั่วเอเชีย ตามดัชนี MSCI All Country Asia ex Japan

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


Yes
9/9/2021