5/29/2019



โดยปกติการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ผลตอบแทนที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ของดอกเบี้ยรับ ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ผลตอบแทนที่ได้รับจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงทำให้ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมมีภาระภาษีน้อยการผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากการกระจายลงทุนในตราสารหนี้หลายร้อยตราสารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ทำให้ภาระภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม มีความเท่าเทียมกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 62 เป็นต้นไป

ผู้ลงทุนคงเกิดคำถามว่า แล้วผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนอยู่จะถูกหักภาษี 15% ทันทีเลยหรือไม่? คำตอบคือ การหักภาษี 15% จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะสินทรัพย์ภายในกองทุนรวมมีทั้งตราสารหนี้ที่ลงทุนก่อนวันที่ 20 ส.ค. 62 ซึ่งจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษี และตราสารหนี้ที่ลงทุนหลังวันที่ 20 ส.ค. 62 ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี ทำให้กองทุนรวมมีระยะเวลาปรับตัวในการส่งผ่านภาระภาษีไปยังผู้เสนอขายตราสารหนี้ (Issuer) อาทิ การเจรจาต่อรองกับผู้ออกตราสารหนี้เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนไม่ต้องจ่ายภาษีเงินปันผลหรือภาษีกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) เนื่องจากได้มีการหักภาษีไว้ในระดับกองทุนรวมไว้แล้ว

นอกจากนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ที่ได้เสนอขายก่อนวันที่ 20 ส.ค. 62 จะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีตราสารหนี้ 15% ผู้ลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน อย่างไรก็ดี หลังจากวันที่ 20 ส.ค. 62 เป็นต้นไป กองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บภาษี 15% ด้วยเช่นเดียวกัน โดยหากประเทศต้นทางเรียกเก็บภาษีไว้แล้วมากกว่าหรือเท่ากับ 15% ของดอกเบี้ยรับ กองทุนรวมจะไม่ต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเพิ่มเติมอีก แต่หากเรียกเก็บน้อยกว่า 15% ของดอกเบี้ยรับ หรือไม่เรียกเก็บเลย กองทุนรวมจะต้องเสียภาษีส่วนต่างต่อกรมสรรพากร จึงไม่เป็นการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการวางแผนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในระยะยาว จึงได้ยกเว้นภาษีตราสารหนี้ 15% ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) กองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เนื่องจาก เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณในอนาคตซึ่งจำเป็นต่อประเทศ

ท้ายที่สุดนี้ไม่อยากให้ผู้ลงทุนตื่นตระหนกจนเกิดการโยกย้ายขายกองทุนรวมตราสารหนี้ด้วยความไม่เข้าใจในมิติของการเก็บภาษี เพราะผลกระทบมีจำกัด อีกทั้งการขายออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่จะทำให้เสียโอกาสรับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ยังมีข้อดีต่อผู้ลงทุนในแง่ที่เงินลงทุนในกองทุนรวมสามารถกระจายความเสี่ยงได้หลากหลายตราสาร อีกทั้งยังมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงมาคอยบริหารจัดการการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้.​


Yes
5/29/2019