4/5/2022

5 เทคนิคลงทุน ให้รอดจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

​วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กระทบตลาดลงทุนทั่วโลกอย่างไร?​

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และตลาดหุ้นยุโรปลดลงมากกว่าตลาดอื่น ขณะที่ตลาดหุ้นในอาเซียนได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดอื่น
  • ตลาดตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนลดลง
  • สินค้าโภคภัณฑ์สดใส ราคาน้ำมันและทองคำปรับสูงขึ้น ซึ่งราคาพลังงานที่สูงขึ้นดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก

 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป?

  • ในกรณีฐาน หากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้ราคาพลังงานสูง เงินเฟ้อสูงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ธนาคารกลางเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด
  • ในกรณีที่ดี รัสเซียและยูเครนเจรจากันได้ ซึ่งล่าสุดรัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหารลง หากทำได้จริง จะทำให้ราคาพลังงานลดลงแต่ยังทรงตัวในระดับสูง เงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลง และเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดี ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาตอนนี้คือ ราคาพลังงานโลก

 

สรุป 5 เทคนิคการลงทุน สู้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

1.     กระจายความเสี่ยงการลงทุนให้เหมาะสม ทั้งในแง่ของตัวหุ้น ตราสารหนี้ กลุ่มหุ้น และภูมิภาคการลงทุน ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป

2.     ผลตอบแทนของหุ้นในภูมิภาคต่างๆ จะฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังมีความผันผวน แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปได้อีก เพราะมีพื้นฐานที่ดี หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และนี่คือจังหวะดีในการทยอยสะสมหุ้น

3.     KAsset มองว่า หุ้นกลุ่ม Quality Growth หรือหุ้นบริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีโอกาสเติบโตที่โดดเด่นในระยะยาว และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Value โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวที่ไม่มีในหุ้น Value เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของภาครัฐ และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

4.     ตลาดที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่

  • ตลาดหุ้นจีน บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีการปรับตัวดี จะเติบโตได้ในอนาคต ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดระเบียบของรัฐบาลจีนจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะยาว
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีคาดการณ์กำไรปรับขึ้น ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น และมูลค่าหุ้นน่าสนใจ อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นด้วย
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ ดังนั้นจึงแนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ด้วย

5.     หากไม่มั่นใจกับภาวะตลาดที่ยังผันผวนและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แนะนำให้ทยอยสะสมกองทุน SSF/RMF เพราะตอนนี้ตลาดหุ้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก จึงเหมาะกับผู้ที่มีแผนซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว ซึ่งดีกว่าการซื้อช่วงปลายปีที่อาจต้องซื้อของแพงขึ้นหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคลี่คลาย

 

 

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2565 

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน​

Yes
4/5/2022