10/12/2018

​“เวียดนาม” ศักยภาพการลงทุนที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง

​หากพูดถึงการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ เชื่อว่าหนึ่งในตลาดที่เป็นที่จับตามาตั้งแต่ต้นปีนั้นคงหนีไม่พ้น “เวียดนาม" หลังมีการออกกองทุน 4 – 5 กองทุนมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บ้างก็ได้รับกำไรกันไปแล้ว บ้างก็ขาดทุนจากในช่วงสั้นที่ผ่านมา แล้วสำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทุนที่เริ่มสนใจแต่ยังกล้าๆกลัวๆ มาลองอ่านบทความนี้ดูก่อน

 

ที่สุดของ Asean

ด้วยโครงสร้างประชากรของเวียดนามที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-54 ปี) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 61.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนที่สูงสุดในอาเซียน ซึ่งโครงสร้างประชากรลักษณะนี้ ประกอบกับจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับสามของอาเซียน (รองลงมาจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดย Bloomberg Consensus (ณ 20 ก.ย. 2561) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตอยู่ในระดับ 6.7% - 6.8% ไปจนถึงปี 2563 สูงสุดในกลุ่ม Asean Emerging Markets นำโดยภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนที่สูงขึ้นใน GDP อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP Per Capita ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหากดูจากสัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 1) จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยแรงงานชาวเวียดนามเปลี่ยนอาชีพจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่อาชีพในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ส่งผลบวกต่อรายได้ต่อหัวของประเทศ หนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 2) นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐของเวียดนามที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 5.5% ของ GDP (ข้อมูลปี 2560)   นับเป็นสัดส่วนสูงสุดในอาเซียน ก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวเศรษฐกิจ โดย Economic and Social Commission for Asia and the Pacific ของสหประชาชาติคาดว่าเวียดนามจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อปีประมาณ 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงปี 2568 เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันในภูมิภาค

 

ตลาดหุ้นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติ

นับว่าภาครัฐมีความพยายามในการปฎิรูปตลาดเงินตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้นและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ทั้งผ่านการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์สูงสุดของนักลงทุนต่างประเทศ (Foreign Ownership limit หรือ FOL) จาก 49% เป็น 100% ในบางกลุ่มอุตสาหกรรม (อาทิ กลุ่มธนาคาร และ กลุ่มโทรคมนาคม) ที่ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมจำกัด นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะลดสัดส่วนในการถือครองรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ผ่านการโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน ผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงแผนการขายสินทรัพย์ ของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลาดทุน โดยจะเห็นได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ​(FDI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับ 14.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สูงเป็นลำดับที่สองรองจากอินโดนีเซีย) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 6% ของ GDP ในปี 2560 ซึ่งหลักๆจะมาจากประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นทั่วโลก นอกจากนี้เวียดนามยังมีมีข้อตกลงทางการค้า กับประเทศต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สนธิสัญญาทวิภาคีกับเกาหลีใต้ เป็นต้น


 vietnam4.jpg


จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าจำนวนบริษัทจดทะเบียนและมูลค่าตลาดหุ้นเวียดนามในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนุนสภาพคล่องในตลาดหุ้น โดยปริมาณการซื้อขายต่อวัน นั้นก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การที่เวียดนามเตรียมเข้าสู่การเป็นสมาชิกตลาดประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันเวียดนามจัดว่าอยู่ในกลุ่ม Frontier Markets (ตลาดหุ้นที่มีพัฒนาการต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ กล่าวคือ มีมูลค่าตลาดและสภาพคล่องต่ำ รวมถึงกฏเกณฑ์การลงทุนที่ยังไม่เป็นมาตรฐานสากลทั้งหมด) ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามได้ผ่านเกณฑ์ในแง่ขนาดสินทรัพย์และสภาพคล่องในตลาดและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ตลอดจนมีแนวโน้มปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายด้านการลงทุนต่างๆ

ด้านระดับราคาหุ้นนับว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและน่าสนใจ โดยคาดการณ์การเติบโตผลกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้าจะสูงถึงประมาณ 22% นับว่าโดดเด่นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ประมาณ 7% - 13%

 vietnam3.jpg

ทีมบริหารกองทุนลงพื้นที่จริง จึงมีชัยไปกว่าครึ่ง

แม้ว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตลาดเงินตลาดทุน แต่เวียดนามยังคงมีประเด็นเรื่องความสามารถในการเข้าถึงตลาด ที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เช่น การเปิดเสรีค่าเงิน และการเปิดเผยข้อมูลต่างๆเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักลงทุนทั่วไปจะเข้าใจลักษณะหรือความเสี่ยงเฉพาะของตลาดได้ดี การลงทุนผ่านกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับนักลงทุนที่อยากมี Exposure ในเวียดนาม โดยทีมบริหารจัดการกองทุนที่ลงพื้นที่จริง เข้าไปศึกษาทั้งในตลาดหุ้นและภาวะเศรษฐกิจ มีการเข้าไป Company Visit หรือพบปะผู้บริหารบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนด้วยตัวเอง ย่อมได้เปรียบ เนื่องจากจะเข้าใจและเพิ่มโอกาสในการจับจังหวะการลงทุน และต้องไม่มองข้ามความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

 

นักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้และพร้อมลงทุนระยะยาว

สำหรับนักลงทุนที่เห็นโอกาสการเติบโตของบริษัทเวียดนาม และมี Risk Profile ระดับสูง อาจต้องเตรียมเงินลงทุนกันได้แล้ว เนื่องจากระดับราคาหุ้นปัจจุบันเริ่มย่อตัวจากจุดที่ขึ้นไปสูงสุดในปีนี้กว่า 17% (ข้อมูล ณ 8 ต.ค. 2561) แต่ต้องไม่ลืมว่าตลาดหุ้นเวียดนามนั้นมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่สูง ส่งผลให้อาจเกิดแรงเทขายหุ้นในช่วงที่ตลาดมี sentiment เชิงลบ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเพราะมีการพึ่งพาภาคส่งออกสูง แต่การที่ประเทศเวียดนามมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลกทำให้การส่งออกของประเทศเวียดนามยังเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รายวันของตลาดเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ส่งผลให้การลงทุนในประเทศเวียดนามอาจมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้นในการเลือกกองทุน ต้องอย่าลืมพิจารณาสภาพคล่องของกองทุนว่าสามารถทำการซื้อขายทุกวันทำการได้หรือไม่ สุดท้ายความผันผวนของค่าเงินเวียดนามด่อง ยังคงต้องจับตา ที่อาจได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนจากภายนอก อย่างไรก็ตามเงินทุนสำรองที่สูงเป็นประวัติการณ์และภาคส่งออกที่แข็งแกร่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินเวียดนามด่องได้

 

ดังนั้นเพื่อเป็นโอกาสที่ดี บลจ.กสิกรไทยจึงได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดเค เวียดนาม หุ้นทุน (K-VIETNAM) ในระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคมนี้ โดยเน้นลงทุนตรงในหุ้นของเวียดนามที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งจุดเด่นของกองทุนอยู่ที่ทีมบริหารจัดการกองทุนที่มากประสบการณ์และศึกษาตลาดเวียดนามมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามาถเริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท ลงทุนง่ายๆผ่าน App K-My Funds หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่บลจ.กสิกรไทย

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2561 โดยนายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)


Yes
10/12/2018