4/12/2022

เงินเฟ้อ เกิดจากอะไร? วันนี้เรามีคำตอบ



ในช่วงนี้นักลงทุนคงได้ยินคำว่า 'เงินเฟ้อ' อยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อกระเป๋าเงินของเราโดยตรง แต่เชื่อว่ายังมีหลายคนยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของเงินเฟ้อ วันนี้เราจึงมีวิชาเงินเฟ้อ 101 ที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเงินเฟ้อมากขึ้น

 

เงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ราคาสินค้า-บริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ข้าวของแพงขึ้นนั่นเอง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเรา เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่กลับมีรายได้เท่าเดิม เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ทุกคนอาจลองมองย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปหลายเท่า

 

สาเหตุของการเกิดภาวะเงินเฟ้อ

โดยทั่วไปแล้ว ก็จะเกิดจาก 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

1. ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้า-บริการเพิ่มขึ้น แต่สินค้า-บริการนั้นกลับมีในตลาดไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายมีการปรับราคาสินค้า-บริการสูงขึ้น

2. ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้า-บริการให้สูงขึ้นตามไปด้วย

 

แต่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ เป็นผลมาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน

1.การแพร่ระบาดของ COVID-19

ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากต้องมีการหมุนเวียนกำลังแรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคการผลิตมีกำลังการผลิตลดลง

2.ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง

ที่ก่อนหน้านี้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ไวที่สุด

3.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกจึงตอบโต้ด้วยการลดอุปทานของน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เลยทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

 

ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ที่เราจะเห็นได้ชัดที่สุดก็คือราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่หากยังมีความยืดเยื้อ ก็มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดการชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออก

 

นักลงทุนควรลงทุนในสินทรัพย์อะไรดี?

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เพื่อให้พอร์ตของเรายังคงเติบโต และสร้างกำไรเข้ากระเป๋าได้

- ทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ

- ตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ทำให้ความผันผวนของตราสารหนี้ระยะสั้นมีน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว

- หุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้า-บริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จึงได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อย เพราะถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้น แต่ความต้องการบริโภคก็ยังเท่าเดิม

- หุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและมีประวัติจ่ายสม่ำเสมอ ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงของตลาดหุ้นที่ผันผวนในช่วงนี้

- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุน REITs เนื่องจากอัตราค่าเช่าเป็นไปตามภาวะเงินเฟ้อ จึงไม่มีผลกระทบจากความผันผวนของตลาด

 

ทั้งหมดนี้ก็คือวิชาเงินเฟ้อ 101 ที่เราสรุปมาให้นักลงทุนได้ลองทำความเข้าใจกัน ส่วนใครที่กำลังมองหาผู้ช่วยทางการเงินดี ๆ ก็อย่าลืมโหลดแอป K-My Funds ติดเครื่องไว้ เพราะทำได้ทั้งเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชม. พร้อมอัปเดตข่าวสารแวดวงการลงทุนทั่วโลก แนะนำกองทุนน่าสนใจ และมีฟีเจอร์ช่วยจัดพอร์ตกองทุนให้ตรงสไตล์ของเราอีกด้วย

 

·        ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนเพิ่มเติม >>คลิก

·       สนใจลงทุน เริ่มต้นเพียง 500 บาท ผ่านแอป K-My Funds ตลอด 24 ชม.

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เงินเฟ้อพุ่ง ลงทุนอย่างไรให้รอด >>Click เพื่ออ่าน 



Yes
4/12/2022