4/12/2022

น้ำมันแพง เงินเฟ้อก็แรง ลงทุนอย่างไรให้รอด? 

​​​

● อัตราเงินเฟ้อของไทย ปรับตัวสูงขึ้น 5.3% (เทียบ ก.พ. 64) มีสาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ (Supply Shortage) ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน และสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ไทยมีความเสี่ยงจะเกิด Stagflation หรือ รายได้โตไม่ทันรายจ่าย

 

● สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุน แนะนำเริ่มทยอยลงทุนทันทีแบบถัวเฉลี่ย (DCA) ในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ ส่วนผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม แต่ให้ติดตามสถานการณ์สินทรัพย์เสี่ยงอย่างระมัดระวัง

 

● สำหรับผู้ที่มีสินเชื่อต่างๆ แนะนำให้เร่งชำระหนี้คืนตามกำลัง หรือ พิจารณา Refinance เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินของรัฐเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

 

ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 65 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) ปรับตัวสูงขึ้น 5.3% (เทียบกับเดือน ก.พ. 64) ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 หากมองที่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว คงมองผลกระทบเป็นเรื่องราคาข้าวของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติจะมาพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆด้วย แต่อัตราเงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นกับทั่วโลก แล้วจะต้องมีวิธีการลงทุนอะไรบ้างเพื่อให้ผลตอบแทนสามารถชดเชยอัตราเงินเฟ้อสูงได้บ้าง

 

อะไรเป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อ “พุ่ง"

สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2565 ในหลายๆประเทศ ไม่ได้เกิดมาจากฝั่งรายได้ที่สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เป็นฝั่งต้นทุนในการผลิต ขนส่ง โดยมีสาเหตุ ดังนี้

 

1.กำลังการผลิตยังกลับมาไม่เต็มที่ ประกอบกับความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นแบบทันทีทันใดหลังการเปิดเมือง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าต่างๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ราคาข้าวของทยอยปรับตัวสูงขึ้น

2.ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเปิดเมือง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งกำลังการผลิต และมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นตาม โดยผู้ประกอบการที่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ ก็มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาของอัตราเงินเฟ้อสูง

3.สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ประเทศรัสเซีย เป็นผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติ โลหะมีค่า หรือ Soft Commodity อย่างน้ำมัน ในระดับสูงของโลก โดยรัสเซียมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันอยู่ราว 10% ของโลก ดังนั้น มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องมองหากำลังการผลิตที่อื่นเพื่อชดเชยแหล่งน้ำมันของรัสเซียที่หายไป อย่างไรก็ตาม การหาแหล่งน้ำมันมาชดเชยนี้ ทำได้ยาก ทำให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง

 

โดย 2 สาเหตุแรก เป็นสาเหตุเงินเฟ้อในช่วงโควิด ไทยก็มีความเสี่ยงเกิด Stagflation อยู่แล้ว ยิ่งเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความเสี่ยงเริ่มสูงขึ้น และการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงลำพังนั้นยังไม่เพียงพอ

 

อัตราเงินเฟ้อสูง จะมีผลกระทบอย่างไร ?

 

เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนราคาข้าวของสินค้า หรือรายได้ที่ปรับตัว ประเทศใดที่มีเงินเฟ้อสูง และจัดการไม่ได้ จะมีผลกระทบหลายด้าน ดังนี้

 

1) เงินในกระเป๋ามีค่าลดลง คนจนลงเรื่อยๆ ยิ่งในปัจจุบันไม่ใช่แค่เงินเฟ้อเฉยๆ แต่เสี่ยงที่จะเกิด stagflation ด้วย ยิ่งมีโอกาสให้คนจนลงง่ายขึ้น เพราะของแพงขึ้น ภาคธุรกิจก็ขาดรายได้ ขายของได้น้อยลง จากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้มีเงินจ้างงานน้อยลง คนมีรายได้น้อยลง แต่ราคาของแพงขึ้น และจะยิ่งกระทบมากขึ้นไปอีกถ้าสถานการณ์ย่ำแย่จนถึงต้องมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ

2) จะลงทุนในธุรกิจ ก็มีแนวโน้มอัตรากำไร (Margin) ลดลง เนื่องจากต้นทุนผลิต/สินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่การปรับราคาขายขึ้นให้โตทันต้นทุนไม่ได้ทั้งหมด ส่งผลให้แนวโน้มอัตรากำไรลดลง โดยธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารตามสั่ง ที่มีต้นทุนจากเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ เนื้อ รวมถึงแก๊สหุงต้มเพิ่มสูงขึ้น หากจะเพิ่มราคาขายให้ทันกับต้นทุนที่สูงขึ้น ก็จะกระทบยอดขายได้ ในขณะที่ธุรกิจต้นน้ำ อย่างผู้ผลิตน้ำมัน มีต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน แต่มีโอกาสปรับเพิ่มราคาขายได้ง่ายกว่า เนื่องจากผู้ซื้ออาจจะเป็นผู้ผลิตกลางน้ำ หรือปลายน้ำ

3) ธนาคารกลางมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการเงินที่ใช้เพื่อแตะเบรกเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ อาจมีการเลือกใช้นโยบายการคลังควบคู่ไปกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่รัฐจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน หรือ แจกเงินให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างภาคขนส่ง เป็นต้น

 

คำแนะนำการลงทุน :

1) สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทุน แนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนทันทีแบบถัวเฉลี่ย Dollar Cost Averaging (DCA) ผ่านตัวช่วยวางแผนการลงทุน (Wealth Plus) ได้เลย หรือเลือกลงทุนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เช่น ทองคำ โดยควรมีสัดส่วนไม่เกิน 5-10% ของพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ อย่างหุ้นไทย ทาง บล.กสิกรไทย แนะนำหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน(ต้นน้ำ) หุ้นโรงกลั่นน้ำมัน และหุ้นขนส่ง (เรือ) หากยังไม่มีเวลาติดตามการลงทุน แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม

 

ในระยะสั้น-กลาง แนะนำกองทุน K-GINCOME ที่มีนโยบายลงทุนทั้งตราสารหนี้และหุ้น เน้นให้ได้รับผลตอบแทนประจำและลดความผันผวนจากสินทรัพย์เสี่ยง

 

ในระยะยาว แนะนำกองทุนรวม 2 ธีมการลงทุน โดย

- ธีมแรก เทรนด์รักษ์โลก อย่าง K-CHANGE หุ้นในพอร์ตที่เน้นกลุ่มเติบโตสูงได้ปรับตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระดับราคาหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจมาก ขณะที่ปัจจัยเงินเฟ้อที่น่ากังวลจะไม่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นผู้นำตลาดและสามารถปรับราคาสินค้าขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจได้

- อีกธีมคือ ธุรกิจพลังงานทางเลือก อย่าง K-CLIMATE แม้ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่ปัจจัยหนุนในระยะถัดไปมีน้อยลง โดยเฉพาะเป้าหมายในการลดคาร์บอนและแก้ปัญหาโลกร้อนที่จริงจังในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธุรกิจพลังงานทางเลือก มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า และสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ใหญ่ของโลกอย่าง ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

 

2) สำหรับผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง และรอติดตามสถานการณ์สินทรัพย์เสี่ยงอย่างระมัดระวัง

 

3) สำหรับคนที่มีหนี้ มีความเสี่ยงที่ภาระดอกเบี้ยอาจจะสูงขึ้น (จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) แนะนำให้ทยอยจ่ายหนี้เร็วขึ้นตามกำลัง หรือ ควร Refinance ไปยังสถาบันการเงินใหม่ โดยต้องมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม ตั้งแต่ 2% ขึ้นไป จึงจะมีความคุ้มค่าในการ Refinance

 

คำเตือน “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

 

บทความโดย : K WEALTH GURU >>Click​

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เงินเฟ้อ เกิดจากอะไร? >>Click​ เพื่ออ่าน​








Yes
4/12/2022