6/9/2022

กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด ขณะที่เงินเฟ้อไทยพุ่งสูง 7.1%

​​​​​​​​​​​​​​​​
​HIGHLIGHTS :

• คณะกรรมการกนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี
• เงินเฟ้อไทยเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 7.1% และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี
• กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและจะขยายตัว 3.3% ในปี 2565 ด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบตลอดทั้งปีนี้ 
• มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ แต่ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จะจำกัดมาก​


เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี”

​ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด 

อนึ่ง เงินเฟ้อเดือนพ.ค. 2565 พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งสูง 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว โดยได้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 

โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปสาเหตุเงินเฟ้อทั่วไปรวมราคาพลังงานและอาหาร ที่ได้มีการปรับขึ้นในเดือนพ.ค. ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 37.24% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาก๊าชหุงต้ม
2. ราคาสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ สูงขึ้น 6.18%

มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมากโดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ

บลจ.กสิกรไทย มองอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก  1 ครั้งในปีนี้
แม้ว่ากนง.จะให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 0.75% หากมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอาจมีการทยอยปรับเพิ่มอีก 1-2 ครั้งในปี 2566 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากมีการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งอัตราเร่งและจำนวนครั้งจะทำได้จำกัดกว่ามากหากเทียบกับทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากทุกภาคส่วนในช่วงที่ผ่านมา

ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จะจำกัดมาก
ตลาดตราสารหนี้สะท้อนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วง 1 ปีข้างหน้าไปที่ระดับ 2.00% แล้ว ดังนั้นแม้กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จะจำกัดมาก อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจยังมีอยู่ตามทิศทางของโลก แต่มีแนวโน้มลดลงและน่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัดมากขึ้น 

คำแนะนำการลงทุน
• กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
กองทุน K-SF : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการถือหน่วยลงทุนสั้นๆเพื่อพักเงิน หรือผู้ที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้น้อย แนะนำให้ถือหน่วยลงทุนตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป

• กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว
กองทุน K-CBOND : จากความกังวลด้าน Credit Risk หุ้นกู้ไทยยังต่ำ อัตราการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มลดลง กองทุนนี้จึงเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้ปานกลาง โดยแนะนำให้ถือหน่วยลงทุนตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป
กองทุน K-FIXED : เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถถือหน่วยลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปได้ หากตลาดตราสารหนี้ฟื้นตัวกองทุนที่ Bond duration หรืออายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยกองทุนนี้เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้สูง


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และบลจ.กสิกรไทย ข้อมูล ณ 8 มิ.ย. 2565​


หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

Yes
6/9/2022