6/14/2022

คำแนะนำการลงทุน หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• ​เงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนพ.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
• สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ดีดตัว​ จากนักลงทุนกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
• กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Growth และกองทุนตราสารหนี้ ต่างได้รับผลกระทบ​ตามภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป 
• ในช่วงนี้ควรระมัดระวังในการลงทุน หลังตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk Off ในระยะสั้น จากความกังวลว่า Fed อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง


เงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนพ.ค.พุ่ง กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก​

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานดัชนีเงินเฟ้อ (CPI) ปรับตัวขึ้นถึง 8.6%YoY ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 40 ปี รวมถึงสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 8.3%YoY ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯดิ่งลงสู่ระดับ 50.2 จุดในเดือนมิ.ย. ต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 

ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.5% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยตลาดมองว่ามีโอกาสสูงถึง 96% ที่ Fed จะขึ้นในอัตรา 0.75% (ที่มา: CME Group FedWatch 13 มิ.ย. 2565 เทียบกับวันก่อนหน้าที่มองว่ามีโอกาสเพียง 26%) ส่วนด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทรุดตัวลงเป็นผลจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้การบริโภคในสหรัฐฯอ่อนตัวลงในอนาคต

สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ดีดตัว จากความกังวลเงินเฟ้อ
นักลงทุนกังวลว่ารายงานเงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าคาด โดยอาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายน จากเดิมที่เคยสื่อสารไว้ว่าธนาคารกลางไม่มีแผนขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% และหากธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงมีแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างรุนแรงในวันศุกร์ทันทีที่สหรัฐฯรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ 

ส่งผลให้เมื่อวันศุกร์ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวลดลงแรงกว่า -2.7% ถึง -4.5%  ด้านตลาดหุ้นฝั่งเอเชียตอบรับต่อรายงานเงินเฟ้อเมื่อตลาดเปิดซื้อขายในวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน โดยตลาดหุ้นทั้งประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วต่างปรับตัวลดลงอย่างหนัก ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปในคืนวันจันทร์ยังคงเผชิญกับแรงขายต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีทรุดตัวอย่างหนักต่อเนื่องเป็นคืนที่ 2 

ด้านตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.19bps มาปิดที่ระดับ 3.36% ทำระดับสูงสุดใหม่ของปีนี้ ขณะที่ทองคำเผชิญกับแรงขายออกมาเช่นเดียวกับตลาดหุ้น ส่งผลให้วานนี้ราคาทองคำปิดที่ 1,831 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยเอานซ์ ลดลง -2.6% สำหรับราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น +1.5% มาที่ 120.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยด้านสงครามในยูเครน

ตลาดตราสารหนี้ไทย เผชิญกับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯที่ขยับตัวขึ้นอย่างมาก ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมารายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของประเทศไทยออกมาสูงถึง 7.1% ทำให้นักลงทุนคาดว่า กนง. จะต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ 

ปัจจัยดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเมื่อวานนี้ ปรับตัวขึ้นในทุกช่วงอายุ โดย 3M +2.53bps, 1Y +9bps, 2Y +7bps, 5Y +15bps และ 10Y +17bps (อ้างอิง ThaiBMA ณ 13 มิ.ย.65)

06-usa-inflation-upto-over-40year-JUN22.jpg


ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญในการปรับอัตราดอกเบี้ย
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลัก ๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะพีคสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาในระยะต่อไป 
นอกจากนี้ มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าหรือเร็วจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นช้าเกินไปจะไม่ดี โดยที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค

กองทุนหุ้น Growth และกองทุนตราสารหนี้ ต่างได้รับผลกระทบ
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Growth : ปรับตัวลดลงแรง หุ้นเติบโตสูง (Growth) เผชิญกับแรงขายออกมารุนแรงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้กองทุนหลักที่เน้นลงทุนในหุ้น Growth ราคา NAV เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ย่อตัวลงอย่างมาก เช่น JPM China (K-CHINA) -4.09%, Baillie Gifford Positive Change (K-CHANGE) -3.80%, MS US Advantage (K-USA) -8.14%, Invesco QQQ Trust (K-USXNDQ) -3.56%

กองทุนตราสารหนี้ : อัตราผลตอบแทน หรือ NAV ย่อตัวจากการปรับตัวขึ้นของ Yield ในประเทศ โดยภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยมีความผันผวนสูงมากหลัง กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่ด้วยคะแนนเสียงเพียง 4 ต่อ 3 เสียงเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ กนง. ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป ภาวะดังกล่าวทำให้ Yield พันธบัตรรัฐบาลในประเทศขยับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ NAV ของกองทุนตราสารหนี้หลายตัวปรับตัวลดลง โดยวานนี้ NAV ของกองทุน K-CBOND -0.17%, K-FIXED -0.35%, K-FIXEDPLUS -0.39% ขณะที่กองทุน K-CASH ที่มีการลงทุนในตราสารภาครัฐส่วนที่อายุเกินกว่า 90 วันและต้อง Mark-to-market อยู่ประมาณ 17% ของ NAV สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในวันที่ 8, 10 และ 13 มิถุนายน NAV ของ K-CASH ปรับตัวลดลง -0.0008% 

คำแนะนำการลงทุน
ในช่วงนี้ควรระมัดระวัง หลังตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk Off ในระยะสั้น โดยคาดว่าตลาดการเงินจะยังมีความผันผวนอยู่สูง จนกว่าจะมีความชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุม 14-15 มิ.ย.นี้ รวมถึงการสื่อสารของแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า 
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ทนความผันผวนระยะสั้นไม่ได้ : แนะนำรอประเมินสถานการณ์ก่อน​
กองทุน K-SF : เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะสั้น ผู้ที่มีความกังวลเรื่องความผันผวนของภาวะตลาดในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของราคา NAV มีความผันผวนต่ำ
กองทุน K-GINCOME​ : เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาว ที่ยังกังวลความผันผวนในระยะนี้ เป็นกองทุนผสมลงทุนทั่วโลก และสามารถลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด
กองทุน ​K-VIETNAM : เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของกำไรตลาดหุ้นโดดเด่น อีกทั้งตลาดหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นไปมาก ราคาจึงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ​​


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย​
ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุนหุ้นไทย >>อ่านต่อ 
โอกาสลงทุนหลังการท่องเที่ยวฟื้น >>อ่านต่อ​ ​

Yes
6/14/2022