3/19/2024

สรุปการประชุมสองสภาจีน ประจำปี 2567

ปิดฉากประชุมสองสภาจีน แต่กลับไม่มีการจัดแถลงข่าว?

จีนเปิดการประชุมสองสภาปี 2567 โดยเริ่มจากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC - Chinese People's Political Consultative Conference) ชุดที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 6 วัน และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามด้วยการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติที่จัดขึ้นเป็นเวลา 7 วัน และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567

โดยในภาพรวม ผลการประชุมเป็นไปตามที่ตลาดคาด กล่าวคือทางรัฐบาลไม่ได้ประกาศนโยบายที่แตกต่างไปจากการประชุมเมื่อช่วงปลายปี 2566 อย่างมีนัยสำคัญ 

โดยมีประเด็นสรุปสำคัญ ดังนี้​

1. การตั้งเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ที่ 5% ซึ่งสอดคล้องกับปี 2566 และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 4.6% อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย เนื่องจากไม่มีผลของฐานต่ำ (Low Base Effect) และแรงขับเคลื่อนจากการเปิดประเทศอย่างเช่นเมื่อปี 2566
2. การตั้งเป้าหมายการขาดดุลการคลัง (Fiscal Deficit) ที่ 3% ของ GDP โดยตลาดได้มีความหวังว่าจะสูงกว่านี้เล็กน้อย
-รัฐบาลได้ประกาศออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Ultra-long special sovereign bonds) จำนวน 1 ล้านล้านหยวน
-การตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เกิน 3%
-การตั้งเป้าหมายอัตราการว่างงานไม่เกิน 5.5% และตั้งเป้าการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน

มุมมองต่อนโยบายภาครัฐ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจ
นโยบายการคลัง :

แม้ตลาดจะผิดหวังเรื่องเป้าหมายการขาดดุลการคลังที่ 3% ของ GDP แต่หากวิเคราะห์ในภาพรวม (Augmented Fiscal Deficit) คาดว่าภาครัฐจะยังมีความสามารถในการสนับสนุนเศรษฐกิจ จากการออกพันบัตรรัฐบาล 1 ล้านล้านหยวน และ Sovereign Bond คงเหลือจากปีก่อน

นโยบายการเงิน :
ช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลด Reserve Requirement Ratio (RRR) และ การลด Loan Prime Rate (LPR) ประเภท 5 ปี อีกทั้งผู้ว่าฯ PBOC ยังระบุว่าพร้อมที่จะลด RRR ลงอีก

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า PBOC อาจมีความสามารถจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงิน จากประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายที่ลดลง และการคำนึงถึงผลได้ผลเสีย (Policy trade-off) ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มุมมองต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นจีน

บลจ.กสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจจีนยังมีความท้าทายสูง โดยเฉพาะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคในประเทศ โดยการลงทุนในภาคอสังหาฯ คิดเป็น 20-25% ของ GDP อีกทั้งเป็นสัดส่วนสำคัญของความมั่งคั่งของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการบริโภคคือตลาดแรงงานและอัตราการออมที่อยู่ในระดับสูง แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายการสร้างงานสูงกว่า 12 ล้านตำแหน่งในปีนี้ แต่คาดว่าการจ้างงานอาจกระจุกอยู่ในบางภาคส่วนเท่านั้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อรายได้ที่คาดหวัง รวมไปถึงการบริโภค และการออม

คำแนะนำการลงทุน
บลจ.กสิกรไทย ยังคงมุมมองต่อหุ้นจีนเป็น Underweight แม้นโยบายสนับสนุนตลาดหุ้นจากผู้กำหนดนโยบายตลาดทุน จะช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านลบ (Downside Risks) แต่หากไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็อาจไม่สามารถช่วยให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้
ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา กระจุกอยู่ในภาครัฐวิสาหกิจ (SOEs) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังคงมีความกังวล และความเชื่อมั่นในภาคเอกชนยังไม่กลับมา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยด้านระดับราคาที่ปรับลงมามาก อีกทั้งจีนก็เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง และมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก จึงยังแนะนำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในระยะยาวได้ ในสัดส่วนที่จำกัด ไม่เกิน 5% ของพอร์ต 

ส่วนผู้ที่ถือในสัดส่วนที่เกิน 5% แนะนำหาจังหวะทยอยลดสัดส่วนในช่วงที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้น ไปเข้าลงทุนในประเทศที่เห็นโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ชัดเจน เช่น สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม

หากคุณสนใจลงทุนกับ บลจ.กสิกรไทย เริ่มต้นเพียง 500 บาท ผ่านแอป K-My Funds ตลอด 24 ชม.

มายเหตุ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน​

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2567​​
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
เริ่ม DCA กองทุนแรก ...แบบใหนดี? >>Click
รวม 5 วิธีเริ่มวางแผนการเงิน ฉบับคนรุ่นใหม่ >>Click​​
วางแผนภาษี มีแค่ PVD พอไม๊ >>Click
ทำไมลงทุนเร็ว ถึงดีกว่าเริ่มลงทุนช้า​ >>Click​




Yes
3/19/2024