4/17/2024

ประเมินสถานการณ์ สงครามอิหร่าน-อิสราเอล

​มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ จากผลกระทบของสงครามอิหร่าน-อิสราเอล (เมษายน 2567)​

สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ นับเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งแรกโดยตรงระหว่าง
​2 ประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาอิหร่านต่อสู้กับอิสราเอลผ่านกลุ่มที่ตัวเองหนุนหลัง เช่น กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์
 

​​“บลจ.กสิกรไทย คาดการณ์ว่า สงครามนี้จะทำให้เกิดความผันผวนในสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลก แค่เพียงในระยะสั้น"

 

โดย KAsset มีมุมมองต่อสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้

 

ราคาน้ำมัน

ในฝั่งอุปทาน เนื่องจาก 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันโลกมีการขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) และอาจจะทำให้มีการหยุดการผลิตน้ำมันในบางจุดได้ ขณะเดียวกันในฝั่งของอุปสงค์ มีความต้องการเพิ่มเติมจากจีนที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อาจจะทำให้ราคาน้ำมันคงอยู่ในระดับสูง

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่ได้มองว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นสูงได้มากนัก (เช่น สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันใน OPEC ยังมี spare capacity หลงเหลือประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับตัวขึ้นสูงจนสร้างความกังวลให้กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

 

ราคาทอง

นักลงทุนมองว่าทองเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง ทำให้ราคาทองปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ราคาทองปรับขึ้นมา กว่า 15% ทำให้เรามองว่า upside อาจจะเริ่มจำกัด แต่ทองจะยังเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนเข้าซื้อโดยเฉพาะในยามที่มีความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์สูง จึงทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นดีในปีนี้  

 

เงินเฟ้อและนโยบายการเงิน

ราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อมากนัก หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 0.4% และ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.04%

 

อย่างไรก็ตาม สงครามอาจจะทำให้ราคาน้ำมันคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับคำสัมภาษณ์ของประธาน Fed เมื่อวันที่ 16 เมษายน ทำให้ตลาดมองว่า Fed อาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพียง 1 – 2 ครั้งในปีนี้

 

ค่าเงินดอลลาร์

ถือเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนเข้าซื้อเมื่อมีความผันผวนสูง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นประมาณ 4% ในสัปดาห์ที่มีสงครามเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทอ่อนลงสู่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงค่าเงินเอเชียประเทศอื่นๆ เช่น ค่าเงินเยน 

 

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

หลังจากที่เกิดสงครามแล้ว อาจจะทำให้สหรัฐฯต้องเพิ่มงบประมาณทางการทหาร และอาจนำไปสู่การกู้ยืมที่มากขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขยอดค้าปลีก หรือตัวเลขการจ้างงาน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสซื้อสะสมกองทุนตราสารหนี้

 

 performance-across-asset-classes-jpmam.png

ที่มา: J.P. Morgan Asset Management 31 ธ.ค. 2566


หุ้นโลก  

จากข้อมูลในอดีตที่เกิดสงครามพบว่า ส่วนใหญ่แล้วสงครามไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อตลาดหุ้นในระยะยาว ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายใน 1 - 3 เดือนหลังจากที่เกิดสงคราม หรือตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายใน 3 เดือนหลังจากมีสงครามเช่นกัน

 

KAsset มองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วงนี้ มาจากหลายปัจจัย อาทิ การเด้งขึ้นแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ผลประกอบการกลุ่มธนาคารไตรมาส 1 ที่อ่อนแอ ขณะที่ความกังวลจากประเด็นสงครามส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนจำกัด การย่อตัวของตลาดหุ้นโดยรวมเป็นจังหวะที่สามารถทยอยเข้าสะสมได้

คำแนะนำการลงทุน

ดังนั้น คำแนะนำต่อนักลงทุนคือการกระจายความเสี่ยงไปหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ลงทุนอย่างกระจุกอยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งในพอร์ตโฟลิโอ และยึดหลักการจัดพอร์ตแบบ Multi-Asset Portfolio จากความไม่แน่นอนต่างๆที่ยังมีสูง ทั้งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีต่อเนื่อง ช่วงเวลาและจำนวนครั้งที่ Fed จะลดดอกเบี้ย การเลือกตั้งของสหรัฐฯในช่วงปลายปี รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ชัดเจน

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

 

บทความโดย KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2567

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

เริ่ม DCA กองทุนแรก ...แบบใหนดี? >>Click

รวม 5 วิธีเริ่มวางแผนการเงิน ฉบับคนรุ่นใหม่ >>Click
วางแผนภาษี มีแค่ PVD พอไม๊ >>Click

ทำไมลงทุนเร็ว ถึงดีกว่าเริ่มลงทุนช้า  >>Click

Yes
4/17/2024
none