Highlight
• กองทุนตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
• คาดว่าในระยะสั้น ตลาดตราสารหนี้ไทยจะยังคงแกว่งตัวผันผวนตามภาวะตลาดตราสารหนี้โลก แต่ความผันผวนจะอยู่ในกรอบที่จำกัดมากขึ้น
• ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำสับเปลี่ยนไปกองทุน K-SF ที่มีความผันผวนต่ำ
• ผู้ที่รับความผันผวนและถือยาวได้ แนะนำถือต่อ เมื่อตลาดฟื้นตัวคาดว่าจะเห็นการปรับตัวขึ้นของ NAV ในอัตราที่น่าสนใจ
ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นดันเงินเฟ้อพุ่ง ทำให้ตลาดคาดหวังการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวขึ้น ตราสารหนี้ไทยเองก็ได้รับแรงกดดันเช่นกัน กองทุนตราสารหนี้ที่ KAsset ลงทุน จึงได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. ปัจจัยทางอ้อมจากสหรัฐฯ ที่ดันให้ Bond Yield ไทย ช่วงอายุมากกว่า 1 ปี ดีดตัวขึ้นมาราว 40-70 Bps ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตร (Yield ปรับตัวขึ้น ราคาจะปรับตัวลง เคลื่อนไหวทิศทางตรงกันข้าม)
2. ปริมาณพันธบัตรระยะยาวที่ประกาศออกมา ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์อย่างมีนัยยะ และส่งผลกระทบทางลบต่อราคาพันธบัตร
ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราดอกเบี้ยในอนาคต (Implied Forward Yield Curve) ได้สะท้อนถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปราว 4-5 ครั้ง (1.50%-1.75%) ใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าตลาดมองมากกว่า (Overdone) ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์พอสมควร
อนึ่ง ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ไปจนกว่าเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้คือช่วงต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็ว เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจเป็นการซ้ำเติมธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิค
กองทุนตราสารหนี้ของ KAsset ได้รับผลกระทบในทิศทางเช่นเดียวกันกับกองทุนอื่นในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจาก Market Risk ไม่ใช่ความกังวลด้าน Credit Risk
“ดังนั้น หากกองทุนถือครองตราสารหนี้จนครบอายุ ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินต้นเต็มจำนวน"
โดยการติดลบที่เกิดขึ้นเป็นการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ MTM (Mark to Market) รายวันของตราสารที่มีอยู่ในพอร์ต อีกทั้งเมื่อตราสารครบกำหนดและได้รับการชำระคืนเงินต้น กองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยยะ ส่งผลดีกับพอร์ตในระยะยาว
“อย่างไรก็ตามคาดว่าในระยะสั้น Bond Yield ไทยจะยังคงแกว่งตัวผันผวนตามภาวะตลาดตราสารหนี้โลก แต่คาดว่าความผันผวนจะอยู่ในกรอบที่จำกัดมากขึ้น"
กลยุทธ์การลงทุน ในช่วงตลาดตราสารหนี้ผันผวน :
กองทุน K-CBOND เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง
ปรับลดกรอบ Duration ลงมาอยู่ที่ 1.5-2.0 ปี ตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น-กลาง ผู้จัดการกองทุนยังคงมุมมองเชิงบวกในหุ้นกู้เอกชนในประเทศ รักษาสัดส่วนหุ้นกู้เพื่อให้ไปอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 75 – 85% เน้นช่วงอายุ 1 - 4 ปี Rating ตั้งแต่ A- ขึ้นไป
กองทุน K-FIXED เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศระยะยาว
ปรับลดกรอบ Duration มาอยู่ที่ 2.5-3.0 ปี โดยช่วงต้นปีมีการลดสัดส่วนพันธบัตรไทยที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เพื่อลดความผันผวนพอร์ต ยังคงมุมมองเชิงบวกในหุ้นกู้เอกชนในประเทศ โดยทยอยเพิ่มสัดส่วนหุ้นกู้ไทย 3-5 ปี Rating ตั้งแต่ A- ขึ้นไป เพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ต โดยอาจเพิ่มสัดส่วนมาที่ 60– 70%
กองทุน K-FIXEDPLUS เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว ทั้งในและต่างประเทศ
• ปรับลดกรอบดูเรชั่นลงบางส่วนตั้งแต่ต้นปีมาอยู่ที่ 2.5 – 3.0 ปี แต่ยังคงมุมมองเชิงบวกในหุ้นกู้เอกชนโดยอาจเพิ่มสัดส่วนมาที่ 50 – 60%
• เป้าหมายการลงทุน ETF ต่างประเทศ 5%-10% เศรษฐกิจยังไม่ได้มีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะใกล้นี้ ETF ตราสารหนี้ประเภทผลตอบแทนสูง (HY ETF) จึงมีความน่าสนใจมากกว่า ETF ตราสารหนี้ประเภทลงทุนได้ (IG ETF) เนื่องจากผลตอบแทนทยอยปรับตัวขึ้นมามากจนน่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ และดูเรชั่นของ HY ETF ที่สั้นกว่า IG ETF
• เพิ่มจำนวนประเทศที่ลงทุนเงินฝากต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนพอร์ต โดยนโยบายการลงทุนในต่างประเทศเป็น Fully Hedged ทั้งหมด
ความเสี่ยงที่นักลงทุน ควรจับตา :
อัตราเงินเฟ้อทรงตัวต่อไปในระดับสูงหรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การล็อกดาวน์ในประเทศจีน ผลกระทบจากสงคราม รวมไปถึงราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ
คำแนะนำสำหรับนักลงทุน :
ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้น้อย แนะนำสับเปลี่ยนไป K-SF ที่มีความผันผวนต่ำ และรอดูสถานการณ์ต่อีกระยะหนึ่งเนื่องจากคาดว่าความผันผวนจะยังทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง หากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้เริ่มลดน้อยลง จึงกลับเข้าลงทุนในกองทุนที่ดูเรชั่นยาวขึ้นอีกครั้ง
ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้ระดับหนึ่งและถือลงทุนระยะยาวได้ สามารถรับขาดทุนสะสม (Drawdown) ได้ แนะนำถือหน่วยลงทุนต่อ เนื่องจากเมื่อตลาดฟื้นตัวคาดว่าจะเห็นการปรับตัวขึ้นของ NAV ในอัตราที่น่าสนใจ
บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ประกาศลดค่าธรรมเนียม กองทุน K-SF >click<
กลยุทธ์การลงทุนช่วงการปรับตัวลงของตราสารหนี้ >click<

