6/16/2022

Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สงครามเงินเฟ้อ…จบหรือไม่?​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด และปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 28 ปี
• เฟดยังส่งสัญญาณจะใช้ยาแรงต่อไป ในขณะที่ Bond Yield เริ่มย่อตัว
• อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลต่อภาพการบริโภคของสหรัฐฯ 
• แนะนำให้ทยอยสะสมในหุ้นกลุ่มเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย แทนได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติ 10-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 28 ปี 

Fed มีมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าว่า จะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1.75% ในช่วงที่เหลือของปี โดยยังเหลือการประชุมอีก 4 ครั้งคือ ก.ค., ก.ย., พ.ย. และ ธ.ค.  และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นไปที่ 3.8% ในสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะชะลอตัวมาที่ระดับ 3.4% ในปี 2567

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. จะมีการเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) เป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปรับลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน มาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Fed ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้และปีหน้าลงสู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% และ 2.2% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ด้านเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% ในปี 2566 และ 2.2% ในปี 2567 

หุ้นสหรัฐฯปรับตัวบวก ด้าน Bond Yield เริ่มย่อตัว
ดัชนีหลักทั้ง 3 ตัวของสหรัฐฯต่างปรับตัวบวก โดย S&P 500 +1.46%, Dow Jones +1% และ Nasdaq +2.5% 
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงมาที่ 3.33% ด้านค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า 0.37% ส่วนทองคำปรับขึ้น 1.37% 
(ข้อมูล 15 มิ.ย. 2565)

มุมมองต่อแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 
คาดการณ์ว่า Fed ยังคงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจจะส่งผลต่อภาพการบริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP 

โดยแนวทางของการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ (Data Dependent) ขณะเดียวกัน Fed ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ จาก 2.8% เหลือ 1.7% และปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการว่างงานของปี 2567 มาที่ 4.1% จาก ระดับปัจจุบันที่ 3.6% สะท้อนให้เห็นถึง มุมมองความกังวลต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Fear) เพิ่มมากขึ้น

มุมมองต่อตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ คือ หลังการประชุม FOMC อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี อยู่ที่ 3.3% ซึ่งสะท้อนการรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ ตาม Dot plot ที่ระดับ 3.4% ไปเกือบทั้งหมดแล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะยาวในระยะข้างหน้านี้ ยังคงได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายตึงตัวของ Fed ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุล ทำให้ภาวะการลงทุนระยะถัดไป ตลาดจะยังคงมีความผันผวนที่ค่อนข้างสูง  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเฟ้อเริ่มกลับมาทรงตัว และตลาดประเมินความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Yield) ปรับลดลง และจะเป็นผลดีต่อการลงทุน 

​มุมมองและคำแนะนำการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ 
สำหรับหุ้นสหรัฐฯ : แนะนำผู้ที่มีอยู่สามารถถือต่อไปได้
KAsset ยังคงมุมมอง Neutral แม้การที่ Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลงมาสะท้อนคาดการณ์ความกังวลด้านการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ไประดับหนึ่งแล้ว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการถือหุ้นสหรัฐฯ แต่เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง แล้วยังส่งผลต่อการปรับคาดการณ์ GDP และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลง จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเพิ่มเติมจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาต่อเนื่อง 

ดังนั้น ในระยะถัดไป ความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาน่าจะยังจำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สำหรับสินทรัพย์โดยรวม
คำแนะนำการลงทุน สำหรับตลาดหุ้นอื่นๆ : 
ผู้ที่รับความผันผวนระยะสั้นได้ หากรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นกลุ่มเอเชียได้ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย 
หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำ K-GINCOME กองทุนผสมลงทุนทั่วโลก ลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด 

คำแนะนำการลงทุน สำหรับตลาดตราสารหนี้ : 
ผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้และมีระยะเวลาการถือครองการลงทุน ได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สามารถทยอยลงทุน K-CBOND ได้ เพื่อรับ Running Yield ที่เพิ่มสูงขึ้นมา ส่วนผู้ที่ต้องการพักเงินระยะสั้น และรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา NAV ได้น้อย แนะนำ K-SF


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


​เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสูงในรอบ 40 ปี >>อ่านต่อ
หุ้นสหรัฐฯ บวกหลังเงินเฟ้อผ่านจุดพีค >>อ่านต่อ​  


Yes
6/16/2022