6/2/2022

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บวกแรงหลังเงินเฟ้อผ่านจุดพีค สนับสนุนให้หุ้นโลกฟื้นตัว


​​​​​HIGHLIGHTS :
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บวกแรง หลังปรับตัวลงต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน
• กองทุน K-USA และ K-CHANGE ทำกำไรบวกสอดรับหลังตลาดคลายกังวลเรื่องเงินเฟ้อ
• จีนผ่อนคลายล็อกดาวน์ ลดแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทาน
• ดัชนี PCE ที่ลดลงทำให้นักลงทุนมีมุมมองว่าดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว
• ตลาดหุ้นรับข่าวลบไปมากนำมาสู่ภาวะ Technical Rebound

3 ดัชนีหลักของสหรัฐฯปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง
ดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้น +1.76% ด้าน S&P 500 วิ่งขึ้น +2.47% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น +3.33% การปรับตัวขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากตลาด Dow Jones ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ภาพรวมทั้งสัปดาห์ Dow Jones +6.2%, S&P 500 +6.6% และ Nasdaq +6.8% หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวหนุนตลาดไม่ว่าจะเป็นหุ้นแอปเปิล, หุ้นไมโครซอฟท์ และหุ้นเทสลา ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย +3.47% และกลุ่มเทคโนโลยี +3.44% 


กองทุน K-USA และ K-CHANGE ทำกำไรบวกสอดรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ

K-USA : Master Fund กองทุน MS US Advantage ปรับตัวขึ้น +8.9% 
การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้น ส่งผลในด้านบวกมายังกองทุน MS US Advantage ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USA เช่นกัน โดย NAV กองทุนหลักปรับตัวขึ้น +8.9% นำโดยหุ้น ZoomInfo +10.16%, Datadog +9.42% และ Block +8.52% เช่นเดียวกับกองทุน K-US500X และ K-USXNDQ ที่ปรับตัวขึ้นตามดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ตามลำดับ (ตัวเลขดัชนี และ NAV กองทุนของวันที่ 27 พ.ค. 2565)

K-CHANGE : Master Fund กองทุน Positive Change ปรับตัวขึ้น +4.1%
NAV ของกองทุน Baillie Gifford Positive Change ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-CHANGE วันที่ 30 พฤษภาคม ปรับตัวขึ้น +4.1% ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งในวันก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และประเทศจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้หุ้น Growth ทั่วโลกที่ถูกกดดันมาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศจีนผ่อนคลายล็อกดาวน์ ลดแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทาน
เซี่ยงไฮ้ประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่มีการใช้มานานกว่า 2 เดือน ให้มีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันพุธที่ 1 มิ.ย. รวมถึงประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถกลับมาดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านโลจิสติกส์และปัญหาคอขวดด้านห่วงโซ่อุปทานในประเทศจีน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งสินค้าออกไปทั่วโลกในสัดส่วนสูง การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจึงเป็นผลดีกับประเทศอื่น และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการขาดแคลนสินค้าลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

ดัชนี PCE เริ่มชะลอตัว นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเงินเฟ้อ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานดัชนี PCE (Personal Consumption Expenditure) ทั่วไปเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้น +6.3%YoY ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +6.6% เช่นเดียวกับ ดัชนี PCE พื้นฐาน (ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน) ซึ่งเป็นตัวเลขหลักที่ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้ในการติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ +4.9%YoY ลดลงจาก +5.2% ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ตัวเลขดัชนี PCE ที่ลดลงทำให้นักลงทุนเริ่มมีมุมมองว่าดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว และกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นรับข่าวลบไปมาก นำมาสู่ภาวะ Technical Rebound
ดัชนีหลักของสหรัฐฯที่ย่อตัวลงมาต่อเนื่อง 7-8 สัปดาห์ ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะ Oversold อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยบวกเข้ามาจึงหนุนให้ดัชนีฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง นอกจากนั้นตลาดยังได้รับรู้แนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้น 50bps ในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้า หากธนาคารกลางเดินหน้าตามแผนดังกล่าวได้แรงกดดันต่อตลาดจึงมีไม่มาก ดังนั้นสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจึงส่งผลดีต่อมุมมองนักลงทุนอย่างมาก ทั้งนี้แม้ว่าการฟื้นตัวของตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่นักลงทุนต้องติดตามดูดัชนีชี้วัดอื่นๆอย่างใกล้ชิด รวมถึงการปรับมุมมองด้าน EPS ของนักวิเคราะห์ซึ่งอาจยังเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นได้ต่อไป

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่นักลงทุนควรจับตามองในสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้สหรัฐฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น ISM Manufacturing, Beige Book, ISM Service และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปัจจุบัน โดยตัวเลขตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก 

ขณะที่วันที่ 14-15 มิถุนายน จะมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกจะติดตามดูอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งนี้

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย  
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2565 

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯทรุด >>Click 
ตลาดหุ้นสหรัฐฯทรุดหนัก >>Click​​



Yes
6/2/2022