GDP ไทย ไตรมาส 4/2024 โตต่ำกว่าคาด
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวเร่งขึ้นไปที่ระดับ 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ราว 3.7% โดยได้แรงขับเคลื่อนหลักจากการท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศยังคงเผชิญกับแรงกดดัน แม้จะมีมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงในอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า GDP ไทยในไตรมาส 4 นี้ มีปัจจัยฉุดรั้งจากส่วนต่างของสินค้าคงคลัง (Changes in inventories) เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการหดตัวของภาคการผลิต
มองเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
สำหรับปีนี้ KAsset มองว่า GDP ไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี จากหลายปัจจัยที่เคยเป็นแรงหนุนในปีที่ผ่านมา เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น
1. ภาคการท่องเที่ยว ที่แม้จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาในไทยราว 38-39 ล้านคนในปีนี้ แต่อัตราการเติบโตจะลดลง จากฐานที่เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากที่ขยายตัวสูงหลังช่วงการระบาดของโควิด
2. การลงทุนภาครัฐ ที่ในช่วงครึ่งแรกของปี คาดว่าจะยังเติบโตได้ในระดับสูง จากอานิสงส์ของฐานต่ำในช่วงที่งบประมาณปี 2024 อนุมัติล่าช้า แต่คาดว่าอัตราการเติบโตจะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากงบประมาณปี 2025 อนุมัติได้ตามไทม์ไลน์ปกติ
3. การบริโภคภาคเอกชนที่เคยเติบโตสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะค่อยๆ เติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่อาจช่วยหนุนการบริโภคได้บ้าง อีกทั้งการส่งออกแม้โมเมนตัมการเติบโตจะดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
ญี่ปุ่น GDP ขยายตัวแข็งแกร่ง และมองเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้
GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น ขยายตัว 2.8% (เทียบรายปี) ขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% สะท้อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ BoJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป
มุมมองการลงทุน
KAsset คงมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยเป็น Neutral มองว่าในปีนี้ GDP จะไม่สามารถเติบโตได้มากกว่า 3.0% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยก่อนการระบาดของโควิด โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.4-2.7% ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดไว้
ขณะที่ในช่วงต้นเดือน ก.พ. KAsset มีการปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นเป็น Neutral มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น GDP ปีนี้ น่าจะเติบโตสูงกว่า 1.0% ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานจะช่วยให้ประชาชนใช้จ่ายอุปโภคบริโภคมากขึ้น