7/7/2022

CHINA COMEBACK : ได้เวลาหันมามอง “ตลาดหุ้นจีน” อย่างจริงจังอีกครั้ง (ตอนที่ 1)

​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวโดดเด่นสวนทางตลาดหุ้นโลก สร้างผลตอบแทนได้กว่า 10%
• ข่าวร้ายที่เกี่ยวกับการลงทุนในจีนเกือบทั้งหมด ถูกซึมซับไปในราคาหุ้นแล้ว
• ดัชนี MSCI China 10/40 ปรับตัวลงมากถึง -53% (ระดับต่ำสุด มี.ค 65) และค่อยๆฟื้นตัวหลังจากนั้น
• เริ่มเห็นสัญญาณบวก ที่ทำให้จีนกลับมาเป็น Spotlight ในการลงทุนอีกครั้ง 
CHINA COMEBACK : ตลาดหุ้นจีน ...ฟื้นตัวโดดเด่น สวนทางตลาดหุ้นโลก
ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นโลกที่มีความผันผวนสูง จากแรงกดดันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น 
1) เงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก 
2) ท่าทีของธนาคารกลางที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ 
3) ความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย 
4) ปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ 

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นหลักของโลกไม่ว่าจะเป็น S&P 500 ของสหรัฐฯ, Euro STOXX 600 ของยุโรป, Nikkei 225 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนี MSCI ACWI ที่สะท้อนตลาดหุ้นโลก ต่างให้ผลตอบแทนเป็นลบในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา 

แต่ดัชนีหุ้นจีน (ดัชนี CSI 300 และ FTSE China A 50) กลับสามารถสร้างผลตอบแทนได้กว่า 10% ในช่วงเวลาเดียวกัน จากปัจจัยบวกที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในประเทศจีน (ตัวเลข ณ 4 กรกฎาคม 2565 ยกเว้นของ S&P 500 ณ 1 กรกฎาคม 2565)

ข่าวร้ายเกือบทั้งหมด ถูกซึมซับไปในราคาหุ้นแล้ว
ตลาดหุ้นจีน เผชิญกับปัจจัยกดดันตลาดหุ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากเดือนมีนาคม 2564 ที่รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าตลาดคาด และเริ่มมีการสั่งปรับบริษัทเทคโนโลยีเรื่องการผูกขาดตลาด ประกอบกับระดับราคา (Valuation) หุ้นกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างสูง จึงเริ่มมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นจีนออกมา 

รัฐบาลจีน และแผน “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ “Common Prosperity”
ต่อมาช่วงกลางปี 2565 รัฐบาลจีนได้นำแผน “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Common Prosperity” มาใช้อย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจจำนวนมากในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกม โซเชียลมีเดีย แพลต์ฟอร์มเดลิเวอลี่อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆอีกมากมาย โดยบางธุรกิจมีมาตรการควบคุมอย่างรุนแรงจนกระทบต่อความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างเทขายทำกำไรในหุ้นจีนออกมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่นอกตลาดจีน ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือมีการใช้นวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างชาติ 

สัญญาณความอ่อนแอในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนั้นระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม เริ่มเห็นสัญญาณความอ่อนแอในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลัง Evergrande หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมททรัพย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างรวดเร็ว และบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปลายเดือนกันยายน เป็นจุดเริ่มต้นของการผิดชำระหนี้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปยังบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆทั่วประเทศด้วย ทำให้นักลงทุนยังขาดความมั่นใจในการลงทุนหุ้นจีน 

มาในช่วงต้นปี 2565 ตลาดหุ้นจีนเผชิญกับแรงกดดันอีกครั้ง หลังรัฐบาลกลับมาใช้มาตรการ Zero Covid ที่เข้มงวด มีการประกาศล็อกดาวน์กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้การบริโภคในประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง 

ปัจจัยข้างต้นทำให้ ดัชนี MSCI China 10/40 ซึ่งสะท้อนราคาหุ้น ของบริษัทจีนที่จดทะเบียนอยู่ทั่วโลกปรับตัวลงมากถึง -53% (จากระดับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 – ระดับต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2565) ทำให้นักลงทุนต่างพากันใจคอไม่ค่อยดี 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนค่อยๆฟื้นตัวหลังจากนั้น แม้จะยังมีความผันผวนระหว่างทาง แต่เริ่มเห็นสัญญาณบวกที่ทำให้จีนกลับมาเป็น Spotlight ในการลงทุนอีกครั้ง 


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
ลงทุนอย่างไร…ให้รอด >>อ่านต่อ 
4 โอกาสการลงทุนในเอเชีย >>อ่านต่อ

​​
Yes
7/7/2022