6/30/2022

Next Chapter ฝ่ามรสุมลูกใหญ่ ลงทุนอย่างไร…ให้รอด?​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• จับตาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะหยุดเงินเฟ้อได้หรือไม่
• สงครามรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อแน่นอน และเป็นปัจจัยหลักที่กดดันการฟื้นตัวของยุโรป
• คาดจะเห็นทิศทางการดำเนินนโยบายของจีนในอนาคตที่ชัดเจนหลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนพ.ย.
• ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนครึ่งปีหลัง คือ เงินเฟ้อที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายของ Fed และความกังวลเรื่อง Recession
 การลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อคือหุ้น ชอบภูมิภาคที่มีนโยบายสนับสนุนการเติบโต รวมถึงมีการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่น เช่น จีน และ เวียดนาม


เมื่อโลกกำลังเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่หลายด้าน เศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าไปทางไหน มีปัจจัยเสี่ยงอะไรต้องสนใจเป็นพิเศษ และควรปรับพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้รอดจากมรสุมครั้งใหญ่รอบนี้?

 

​​​​ทิศทางเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หลังวิกฤตเงินเฟ้อ
สหรัฐฯ มีตัวเลขเศรษฐกิจดีเกือบทุกอย่าง ยกเว้นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนักลงทุนต้องจับตาดูว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะหยุดเงินเฟ้อได้หรือไม่ และจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว จนถึงขั้น Recession หรือไม่

การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนในเดือนพ.ย. 2022 จะทำให้เห็นทิศทางการดำเนินนโยบายของจีนในอนาคตว่าจะกลับมาส่งเสริมการทำธุรกิจของเอกชน หรือจะควบคุมดูแลบริษัทเอกชนอย่างเข้มงวด และคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID มากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯและยุโรปชะลอตัว จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวตามไปด้วย

วิกฤตการเงินเฟ้อทั่วโลก
เงินเฟ้อครั้งนี้ เกิดจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ได้แก่ สหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19, การฟื้นตัวของ Demand, ปัญหา Supply ไม่เพียงพอ และปัญหา Supply Chain รวมถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น การสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นด้วย 

โลกเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อ ซึ่งอาจค้างอยู่ที่ระดับ 3-5% เป็นเวลานาน และอาจเข้าสู่ยุคต้นทุนแพงเพราะการสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์
Deglobalization ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจจีน?

ในระยะสั้น : เศรษฐกิจจีนไม่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้มีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่าชาติตะวันตก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจจีน 
ในระยะยาว : จีนต้องหาเครื่องจักรใหม่ในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจแทนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการพูดถึงอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะเดียวกัน ต้องเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้วยเพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิด Recession หรือไม่ อย่างไร?
การปรับขึ้นอัตราเงินเฟ้อเร็วและแรงของ Fed ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว อาจเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิด Mild Recession ปลายปี 2022 หรือเศรษฐกิจติดลบเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่ไม่ใช่ Deep Recession หรือการปรับตัวลงลึกและกินระยะเวลาหลายไตรมาส ทั้งนี้ เป็นการประเมินภายใต้ปัจจัยแวดล้อมและข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ผลกระทบต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนที่จะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียน และภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้หลายๆ ตลาด เช่น เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ก็มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวเมื่อไหร่?
หากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามารถหยุดยั้งเงินเฟ้อได้ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวภายใน 1 ปี 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวกับการเปิดประเทศของจีน ที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในช่วงเดือนพ.ย. 2022 (หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน) หรือต้นปี 2023 จีนน่าจะผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศมากขึ้น ดังนั้น ภาคท่องเที่ยวไทยน่าจะฟื้นตัวได้สมบูรณ์ในปี 2023 

Investment Strategy in 2022 แนวทางการลงทุนสำหรับครึ่งปีหลัง
ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนครึ่งปีหลัง คือ เงินเฟ้อที่จะส่งผ่านไปยังการดำเนินนโยบายของ Fed และความกังวลเรื่อง Recession  ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยังคงเติบโต แต่ชะลอตัวลง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าจะอยู่ในจุด Peak ในไตรมาสที่ 3 

ช่วงที่ผ่านมา สินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีสุดคือ น้ำมัน ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นให้ผลตอบแทนติดลบ โดยการปรับลดลงของดัชนีหุ้นในภูมิภาคต่างๆ พบว่า ตลาดเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ปรับลงน้อยกว่าหุ้นโลก ส่วนตลาดที่ปรับลงแรง คือ กลุ่มฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างดัชนี NASDAQ 

การลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อคือ หุ้น นักลงทุนควรเลือกลงทุนหุ้นในภูมิภาคที่มีนโยบายสนับสนุนการเติบโต รวมถึงมีการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นในเชิงเปรียบเทียบ เช่น จีน เวียดนาม ไทย  ประกอบกับ Valuation ในหลายตลาดได้ปรับลงมากอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้น เพื่อการลงทุนในระยะยาว

การลงทุนใน Fixed-Income : นโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลลบต่อราคาตราสารหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุยาว
การลงทุนใน Corporate Credit : กลุ่มตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีมี Credit Spread ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนความกังวลของการเกิด Recession ไประดับหนึ่ง คาดว่าตลาดยังคงผันผวนสูง ทั้งนี้ การลงทุนระยะกลาง การลงทุนในตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ
การลงทุนใน REITs : แม้ผลประกอบการจะฟื้นตัวหลังมีการเปิดเมืองและเปิดเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นกดดัน Valuation ของสินทรัพย์กลุ่มนี้
การลงทุนในน้ำมัน : หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูง แต่ไม่ได้ Peak กว่านี้
การลงทุนในทองคำ : แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นกดดัน Upside ราคาทองคำ โดยทองคำจะน่าสนใจลงทุนเมื่อโอกาสเกิด Recession สูงขึ้นต่อเนื่อง ควรมีติดพอร์ตสำหรับเป็นตัวกระจายความเสี่ยง (diversifier) 

การถือเงินสดในภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงถือเป็น “ความเสี่ยง” เพราะทำให้มี “อำนาจในการซื้อลดลง”


ที่มา : สัมมนา Next Chapter ฝ่ามรสุมลูกใหญ่ ลงทุนอย่างไร...ให้รอด? จัดโดย บลจ.กสิกรไทย ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2565
Part 1 : Next Chapter economy เศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์ และผลกระทบต่อประเทศไทย
Part 2 : Investment Strategy in 2022 แนวทางการลงทุนสำหรับครึ่งปีหลัง
• โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• โดย คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย
• โดย คุณภารดี มุณีสิทธิ์ จากบลจ.กสิกรไทย
• ผู้ดำเนินรายการ อิก บรรพต จากเพจ "ถามอีก กับอิก Tam-Eig"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
โอกาสลงทุนในเอเชีย >>อ่านต่อ
เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสูง >>อ่านต่อ  
การลงทุนหลังท่องเที่ยวฟื้น >>อ่านต่อ 


Yes
6/30/2022