7/15/2022

เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี แตะระดับ 9.1% กระทบต่อนักลงทุนอย่างไร?​

​​
​​

HIGHLIGHTS :
• ดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งขึ้นสูงกว่าตลาดคาด แตะระดับ 9.1% และสูงสุดในรอบ 40 ปี
• จับตาทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
• มีโอกาสถึง 80% ที่ Fed อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมครั้งถัดไป
• คาดสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะ Technical Recession จากเศรษฐกิจที่ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส 
• จับตา เงินเฟ้อ GDP ไตรมาส 2 และการทยอยประกาศผลประกอบการ ที่จะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีความผันผวนในระยะนี้​

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับ 9.1%YoY เป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงสูงกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ 8.6% และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.8% สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ปรับตัวขึ้น 5.9%YoY ราคาพลังงานปรับตัว 7.5%MoM และ 41.6%YoY ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 1%MoM ส่วนราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 0.6%MoM หรือ 5.6%YoY โดยราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1%YoY เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันแล้ว 

การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริงของแรงงาน (Inflation-Adjusted Incomes) โดยในเดือนมิ.ย.ค่าแรงเฉลี่ยหลังปรับเงินเฟ้อลดลง -1%MoM หรือ -3.6%YoY ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐฯในอนาคต​

จับตาทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ​
เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง และสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของ Fed ที่ระดับ 2% เป็นอย่างมาก จะทำให้ Fed ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วน เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในอนาคต รายงาน Beige Book ล่าสุดของ Fed เปิดเผยว่าผู้กำหนดนโยบายใน 12 สาขาของธนาคารกลางมองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงอย่างน้อยปลายปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจในปัจจุบันสามารถขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในรายงานยังเปิดเผยอีกว่าภาคธุรกิจเริ่มเห็นความต้องการสินค้าชะลอตัวลง โดยมี 5 สาขาของธนาคารกลางแสดงความกังวลเรื่องการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

มีโอกาสถึง 80% ที่ Fed อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมครั้งถัดไป​
เครื่องมือ CME FedWatch Tool ล่าสุดเปิดเผยว่ามีโอกาสสูงถึงประมาณ 80% ที่ Fed จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. นี้ โดยก่อนหน้าที่ตัวเลขเงินเฟ้อจะประกาศออกมา ตลาดคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.75% ส่วนการประชุมเดือนก.ย.ตลาดประเมินไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% และอีกครั้งละ 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค. (ไม่มีการประชุมในเดือนต.ค.)

คาดสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะ Technical Recession
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯชะลอตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่ามีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาส 2 นี้จะติดลบต่อต่อกัน 2 ไตรมาส ทำให้สหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะ Technical Recession ขณะที่รายงาน GDPNow ของ Fed สาขา Atlanta เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า GDP สหรัฐฯในไตรมาส 2 คาดว่าจะหดตัว -2.1% 

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ทันทีที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯย่อตัวลงทันทีก่อนที่ระหว่างวันจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา ตลาดหุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ปิดในแดนลบ แต่ดัชนี S&P 500 ย่อตัวลงเพียง -0.45% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ซึ่งเน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีย่อตัวลง -0.15% และดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลง -0.67% 

คาดตลาดหุ้นสหรัฐฯจะแกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง
คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะยังคงแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากความกังวลต่อโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น ขณะที่ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่นำไปสู่การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างรวดเร็วได้สะท้อนในราคาสินทรัพย์ทางการเงินไประดับหนึ่ง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะ peak ได้ในไตรมาส 3 หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลงมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะถัดไป โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน

นอกจากจะต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อแล้ว อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ (ซึ่งจะประกาศช่วง 28 ก.ค.) ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession หรือไม่ นอกจากนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตลาดหุ้นสหรัฐฯเข้าสู่ช่วง Earnings Season โดยในวันนี้จะมีรายงานผลประกอบการของ JPMorgan และ Morgan Stanley และตามมาด้วยบริษัทอื่นในสัปดาห์ต่อๆไป โดยนักลงทุนจะติดตามดูอย่างใกล้ชิดถึงการส่งสัญญาณแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรในช่วงที่เหลือของปีหลังจากเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะมีความผันผวนในระยะนี้

มุมมองการลงทุนจาก KAsset
การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ 
KAsset ยังคงมุมมอง Neutral แนะนำผู้ที่มีหน่วยลงทุนอยู่แล้ว สามารถถือต่อไปได้ แม้การที่ valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ปรับลงมากต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการถือหุ้นสหรัฐฯ
 
อย่างไรก็ดี ความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จะยังจำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

การลงทุนในสินทรัพย์โดยรวม
ตราสารทุน หรือหุ้น : สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นได้ 
หากรับความเสี่ยงได้สูง สามารถทยอยสะสมหุ้น โดยเฉพาะเอเชีย เช่น จีน ที่มีนโยบายการเงินและการคลังสนับสนุนการเติบโตสวนทางกับประเทศฝั่งพัฒนาแล้ว​
K-CHX : ลงทุนในหุ้นจีน A-shares เน้นกลุ่ม Old Economy อย่างกลุ่มอุปโภคบริโภคและการเงิน ที่แรงซื้อจะกลับมาก่อนกลุ่มอื่นรับช่วงเศรษฐกิจฟื้น 
K-VIETNAM : ราคา NAV ย่อตัวลงมามากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจเวียดนามยังแข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสดีในการทยอยสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว
K-JP : ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศ และไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้เป็นโอกาสเข้าลงทุนรับการเติบโตในอนาคต


ตราสารหนี้ : สำหรับการกระจายความเสี่ยงของพอร์ต (Asset Allocation)
K-CBOND : ผู้ที่สามารถรับความผันผวนของราคา NAV ได้ และมีระยะเวลาการถือครองการลงทุนได้ยาว 9 เดือนขึ้นไป สามารถทยอยลงทุนเพื่อรับ Running Yield ที่เพิ่มสูงขึ้นมา 
K-SF : ผู้ที่สามารถรับความผันผวนของราคา NAV ได้เล็กน้อย และถือครองได้ตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป 

ตราสารหนี้ : สำหรับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินลงทุน จากความผันผวนในระยะนี้
K-CASH : ผู้ที่ต้องการพักเงินเพื่อรอจังหวะเข้าลงทุน และรับความผันผวนของราคา NAV ไม่ได้เลย​


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


​เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
ลงทุนอย่างไร…ให้รอด? >>อ่านต่อ
หุ้นกลุ่มเทคสหรัฐฯทรุด >>อ่านต่อ
หุ้นสหรัฐฯ บวกหลังเงินเฟ้อ >>อ่านต่อ

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​
Yes
7/15/2022