7/22/2022

ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าคาดการณ์ กระทบต่อการลงทุนอย่างไร?​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
• ตลาดหุ้นยุโรปไม่ได้วิตกต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้
• นักลงทุนให้น้ำหนักต่อผลประกอบการบริษัท ไตรมาส 2 ที่กำลังทยอยออกมา
• KAsset ยังคงมีมุมมอง Slightly Negative เพราะมีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะผันผวนและปรับตัวลงได้อีกในอนาคต 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หลังจากที่ดัชนีเงินเฟ้อขยายตัวแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 8.6% ในเดือนมิ.ย. 

ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ นับเป็นการปรับขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด หลังจากที่ ECB ส่งสัญญาณในการประชุมรอบเดือนมิ.ย.ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0% จากเดิม -0.50% อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.50% จากเดิม 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกปรับขึ้นมาที่ระดับ 0.75% จากเดิม 0.25% 

นอกจากนี้ ECB ออกเครื่องมือใหม่เรียกว่า Transmission Protection Instrument (TPI) ซึ่งเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีหนี้ในระดับสูง เช่น อิตาลี เพื่อควบคุมไม่ให้ Bond Yield ปรับตัวขึ้นสูงเกินไป และลดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นยุโรปไม่ได้วิตกต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นยุโรปเคลื่อนไหวปรับตัวผสมผสาน ปิดทั้งบวกและลบเพียงเล็กน้อย ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น +0.44%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น +0.27%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนี ลดลง -0.27% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปรับขึ้น +0.09% 

นักลงทุนให้น้ำหนักต่อผลประกอบการบริษัท ไตรมาส 2 ที่กำลังทยอยออกมา 
โดยนักลงทุนให้น้ำหนักต่อผลประกอบการบริษัทที่กำลังทยอยออกมาซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ตลาดได้ซึมซับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดแต่เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก นักลงทุนจึงไม่ได้ตอบรับในด้านลบ

มุมมองการลงทุนจาก KAsset
ยังคงมุมมอง Slightly Negative แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น สร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน ขณะที่การบริโภคในยุโรปจะชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูง และผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มจะอ่อนแอลง เนื่องจากเผชิญกับภาวะต้นทุนสูง 

โดยรวม นโยบายการเงินที่ตึงตัว ประกอบกับความกังวลเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อสูง จึงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะผันผวนและปรับตัวลงได้อีกในอนาคต 


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


​เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

ผลประกอบการ Q2 สหรัฐฯ >>อ่านต่อ     
ผลประกอบการ Q2 จีน >>อ่านต่อ
เกิดอะไรขึ้นกับภาคอสังหาฯ >>อ่านต่อ​



Yes
7/22/2022