8/30/2022

Fed ต้องใช้นโยบายเข้มงวดต่อไป เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​

HIGHLIGHTS :
• นักลงทุนทั่วโลกกังวลต่อถ้อยแถลงของ Powell เมื่อ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากกว่าตลาดคาด 
• Fed ยังคงต้องใช้นโยบายเข้มงวดต่อไปเพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ และไม่ปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในระยะข้างหน้า
• ยังคงมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และกำไรบริษัทฯยังมีแนวโน้มถูกกดดันเพิ่มเติม
• สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นได้ แนะนำให้ selective หุ้นกลุ่มเอเชียที่ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจยังผ่อนคลาย พร้อมสนับสนุนการเติบโต

ตลาดสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวลงจากการสื่อสารนโยบายดอกเบี้ยที่ยังคงตึงตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าคาดของ Fed จากการประชุมประจำปีที่แจ็กสัน โฮล 26 ส.ค. ที่ผ่านมา​
ถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่เน้นย้ำการจัดการกับเงินเฟ้อให้กลับไปสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% นั้น ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งต่างจากที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดก่อนหน้าว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า นอกจากนี้ประธาน Fed ส่งสัญญาณชัดเจนที่ไม่ปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในระยะข้างหน้า รวมทั้ง ประธาน Fed ยังไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าด้วย 

นอกจากนี้ ประธาน Fed ยังกล่าวว่า การกดเงินเฟ้อจำต้องอาศัยเศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าระดับศักยภาพเป็นระยะเวลาหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องนี้จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา ซี่งสื่อถึงนัยยะของผลการขึ้นดอกเบี้ยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะชะลอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะข้างหน้า ​

"โดยสรุป การส่งสัญญาณที่มีความ Hawkish (นโยบายทางการเงินแบบตึงตัว) มากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า" 

ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯทั้ง S&P 500, Dow Jones และ Nasdaq ต่างพากันร่วงลง 3-4% ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา และในวันนี้ตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับตัวลงตามทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่าจะเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานรับข่าวนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะกลับไปโฟกัสที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกในระยะถัดไป

คำแนะนำการลงทุน
หุ้นสหรัฐฯ : 
ยังคงมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (K-USA, K-USXNDQ) ผลจากการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวต่อเนื่องของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง จะทำให้เศรษฐกิจชะลอ รวมถึงแนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกกดดันเพิ่มเติม ล้วนเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะนี้
คำแนะนำ : ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนอยู่สามารถถือต่อไปได้ 

สินทรัพย์โดยรวม 
ตลาดหุ้น :
ช่วงสั้นมองการปรับฐานหลังจากตลาดหุ้นส่วนใหญ่ฟื้นตัวขึ้นมาในไตรมาส 3 โดยมองการพักฐานของตลาดหุ้นโดยรวมช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้เป็นโอกาสในการสะสม 

สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นได้ แนะนำให้ selective หุ้นกลุ่มเอเชีย ที่มีทิศทางนโยบายเศรษฐกิจยังผ่อนคลาย พร้อมสนับสนุนการเติบโต สวนทางกับสหรัฐฯที่ดำเนินนโยบายตึงตัว ซึ่งจะสนับสนุนให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวน่าจะผันผวนน้อยกว่าหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและยุโรป 
คำแนะนำ ​แนะนำทยอยเข้าสะสม กองทุนหุ้นจีน K-CHX, กองทุนหุ้นเวียดนาม K-VIETNAM, กองทุนหุ้นญี่ปุ่น K-JP และกองทุนหุ้นไทย K-STAR, K-BANKING

ตราสารหนี้ :
แม้ตลาดตราสารหนี้ไทยจะผันผวนตามทิศทางของสหรัฐฯ แต่น่าจะจำกัดกว่า โดยกนง.มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้ากว่า Fed นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบันมีการ Priced-in อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับประมาณ 2% แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้
คำแนะนำ : ภาพรวมยังอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้

กองทุนแนะนำสำหรับสภาวะตลาดในปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่ต้องการพักเงินลงทุน จากความผันผวนในระยะนี้
- K-CASH (ถือ 3 วัน ขึ้นไป) สำหรับผู้ที่รับความผันผวนของราคา NAV ไม่ได้เลย
- K-SF (ถือ 3 เดือน ขึ้นไป) สำหรับผู้ที่รับความผันผวนของราคา NAV ได้เล็กน้อย โดยในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะได้ประโยชน์จากการที่กองทุนนำเงินที่ถือตราสารหนี้จนครบอายุไปลงทุนต่อในตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น

สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Asset Allocation
- K-CBOND (ถือ 1 ปี ขึ้นไป) 
K-FIXED (ถือ 1.5 ปี ขึ้นไป)  

เหมาะสำหรับผู้ที่รับความผันผวนระหว่างทางได้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนจะสูงกว่ากองที่ดูเรชั่นสั้นอย่างมีนัยยะ แต่อาจมีการติดลบบางขณะได้


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 2565​

หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"


​เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย >> อ่านต่อ 
ภาวะ Technical Recession >> อ่านต่อ 
ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูง >> อ่านต่อ​



Yes
8/30/2022