Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด
ในคืนวันพุธที่ผ่านมา (27 ก.ค. 2565) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 2.25% - 2.5% เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ รวมถึงเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.75% เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน ต่อเนื่องจากการประชุมในเดือนมิถุนายน ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งรวมกันในระดับที่มากที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2533 โดย Fed พยายามชะลอการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ปัจจุบันอยู่สูงถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายนและเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 อีกด้วย
ในการแถลงการของประธาน Fed นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางเข้าใจดีว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจ และธนาคารกลางจะยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป แต่ความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเริ่มชะลอตัวลง โดย Fed จะประเมินผลกระทบของการใช้นโยบายดังกล่าวต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง
นาย Powell ยังกล่าวอีกว่าภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในภาวะถดถอยแต่อย่างใด โดยการจ้างงานเฉลี่ยต่อเดือนของสหรัฐฯในปีนี้อยู่ที่ 4.5 แสนตำแหน่งต่อเดือน และอัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯในหลายส่วนยังสามารถขยายตัวได้ดี ซึ่งไม่ตรงกับนิยามของคำว่าเศรษฐกิจถดถอยที่เกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องมีการหดตัวลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน
สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะ Technical Recession หลัง GDP ไตรมาส 2 หดตัว
รัฐบาลสหรัฐฯรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯประจำไตรมาส 2 หดตัวลง -0.9% (เทียบรายปี) เป็นการหดตัวติดต่อกันสองไตรมาสหลังจากที่ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจหดตัวลง -1.6% ทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะ ”Technical Recession” ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของสินค้าคงคลัง รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคยังขยายตัวได้ 1%
เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ
The National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นผู้ติดตามดูภาวะเศรษฐกิจรวมถึงเป็นผู้ประกาศว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ โดย NBER จะพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจแบบองค์รวมและไม่ได้ดูเฉพาะ GDP เพียงอย่างเดียว และคาดว่าจะยังไม่มีการตัดสินใจใดๆในเรื่องดังกล่าวเป็นระยะเวลาอีกหลายเดือน ในปัจจุบันการบริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจเริ่มชะลอตัวลงแต่ยังไม่หดตัว รวมถึงยังเห็นการจ้างงานและการเติบโตของกำไรภาคเอกชน ด้านหัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics กล่าวว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวเท่านั้น
ตลาดหุ้นฟื้นตัวตอบรับท่าทีของ Fed ที่ความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยจะชะลอตัวในระยะถัดไป และไม่กังวลภาวะ Technical Recession
การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในรอบนี้เป็นไปตามที่คาด แต่ท่าทีของ Fed ที่ส่งสัญญาณถึงความรุนแรงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปที่น่าจะชะลอลง ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทค และ Growth stocks ที่ถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง ในช่วงก่อนหน้า
โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่นในคืนวันพุธที่มีการรายงานทั้ง GDP และผลการประชุมของ Fed โดย S&P +2.6% และ Nasdaq +4.1% และยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีทรงตัว ส่งผลให้ในเดือนกรกฎาคม ดัชนี S&P 500 +9.1% และ Nasdaq +12.4% รวมถึงเป็นการปรับตัวขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับแต่ปี 2563 อีกด้วย
มุมมองและคำแนะนำการลงทุน
KAsset ยังคงมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (กองทุน K-USA และ K-USXNDQ) ปัจจุบัน valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯอยู่ที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง จะจำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม รอประเมินสถานการณ์
โดยปัจจัยที่ต้องจับตาคืออัตราเงินเฟ้อ ว่าส่งสัญญานผ่านจุดสูงสุดแล้วหรือยัง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ในระยะถัดไป หากเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางปรับตัวลงหลังไตรมาส 3 และอัตราการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เริ่มชะลอ จะทำให้นักลงทุนคลายความกังวลและหันมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานบริษัทจดทะเบียน
ผู้ที่มีอยู่หากมีกำไรอาจพิจารณาขายบางส่วน ในจังหวะที่ตลาดเด้งระยะสั้นหากต้องการลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม หรือถือต่อไปได้สำหรับผู้ที่สามารถถือลงทุนระยะยาวผ่าน Cycle นี้ไปได้
จากปัจจัยสนับสนุนด้าน valuation ที่ปรับลงมาที่ค่าเฉลี่ย 10 ปี และคาดว่าในช่วงสั้นการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 น่าจะทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวโน้มการทำกำไรในช่วงถัดไปมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง เช่นเดียวกับแนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อาจถูกปรับลดลงเพิ่มเติมในอนาคต โดยเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เริ่มสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าปัจจัยข้างต้นจะกลับมากดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะถัดไป