3/27/2025

ThaiESG กองทุนขับเคลื่อนความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม 

​Highlights :
• กองทุน ThaiESG มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนฯ โดยนอกจากช่วยสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน 
• ปัจจุบันมี ThaiESG จำนวน 53 กองทุน จาก 16 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 32 พันล้านบาท  
• การลงทุนของ ThaiESG มีประเด็นที่ให้ความสนใจ เช่น นโยบายกำกับดูแลและการต่อต้านคอร์รัปชัน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิทธิผู้บริโภค และการจัดการมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
• ThaiESG ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย โดยทั้ง Screening, ESG Integration และ Combined Screening & Integration หรือการผสานทั้งสองกลยุทธ์เข้าด้วยกัน 
• นอกจากนี้ การลงทุนยังกระจายไปหลายอุตสาหกรรม โดยกลุ่มเทคโนโลยีได้รับความสนใจสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มทรัพยากร แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่นักลงทุนมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่เติบโตควบคู่ไปกับแนวทางความยั่งยืน
• ThaiESG ไม่เพียงเป็นแนวทางการลงทุนที่ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืน แต่ยังช่วยให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงระยะยาว พร้อมสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 
• เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 68 ครม. ได้อนุมัติการจัดตั้ง ThaiESGX เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิมและเงินใหม่ 
• ThaiESGX มีนโยบายการลงทุนที่เน้นหุ้นกลุ่มความยั่งยืนเหมือน ThaiESG ซึ่งจะยิ่งช่วยส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทยต่อไป 

ในปัจจุบัน 

​​ 

การเติบโตของกองทุน ThaiESG และบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน
เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ประเทศไทยได้มีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ ThaiESG ซึ่งเป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว โดยแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนประเภท ThaiESG ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน 

จากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่า ปัจจุบันมีกองทุน ThaiESG ซึ่งบริหารจัดการโดย 16 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยรวมมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ประมาณ 32 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปัจจัย ESG ในการตัดสินใจลงทุนของแต่ละกองทุนจะแตกต่างกันไป ตามนโยบายและกลยุทธ์ของแต่ละ บลจ.

ปัจจัยด้าน ESG และองค์ประกอบสำคัญในการคัดเลือกหลักทรัพย์ของกองทุน ThaiESG
จากข้อมูลที่รวบรวมได้จากหนังสือชี้ชวน พบว่าปัจจัยด้าน ESG ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าสู่กองทุน ThaiESG มีจำนวนประเด็นที่ได้รับความสนใจที่หลากหลาย อาทิ เช่น

ด้านบรรษัทภิบาล ให้ความสำคัญกับโครงสร้างและระบบการกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยสามประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่
• นโยบาย โครงสร้าง และระบบกำกับดูแลกิจการ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของคณะกรรมการ ขนาดองค์กร และสัดส่วนของกรรมการอิสระ
• การจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่มุ่งเน้นให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อคู่ค้าและซัพพลายเชน
• การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงทางกฎหมายและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ด้านสังคม เน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อบุคคลและสังคมโดยรวม โดยมีสามประเด็นสำคัญ ได้แก่
• ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
• ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และลูกค้า โดยเน้นการสร้างมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
• การบริหารทรัพยากรบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพพนักงาน การสร้างความเท่าเทียม และการดูแลสวัสดิการของบุคลากร

ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยสามประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ได้แก่
• การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรับมือกับกฎระเบียบด้านภาษีคาร์บอน
• การจัดการมลพิษจากกระบวนการผลิตที่อาจส่งผลต่อชุมชนโดยรอบ เช่น อากาศและน้ำ
• การจัดการน้ำ ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการใช้น้ำ และการบำบัดน้ำเสีย
 
นอกจากนี้บางกองทุน ThaiESG ยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับสากล เช่น การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงผลักดันให้มีส่วนร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
  
แม้ปัจจัยข้างต้นจะมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับกองทุน ThaiESG แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ถูกนำมาพิจารณาควบคู่กันเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนมีความรอบด้านและแม่นยำยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้รวมถึง ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เช่น ผลประกอบการ ศักยภาพในการเติบโต และโครงสร้างทางการเงิน ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และภาวะตลาดทุนโดยรวม ตลอดจน ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ที่ช่วยให้กองทุนสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์และคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต การผสานปัจจัย ESG เข้ากับองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยให้กองทุนสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่ง ควบคุมความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

กลยุทธ์ด้านการลงทุนที่ยั่งยืนของ ThaiESG 
ปัจจุบันมี ThaiESG ทั้งหมด 53 กองทุน ประกอบด้วยสินทรัพย์ 3 ประเภท คือ ตราสารทุน 33 กองทุน ตราสารหนี้ 11 กองทุน (ซึ่งมี 2 กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนที่เหลือ 8 กองทุนเน้นตราสารหนี้ภาครัฐ) และกองทุนผสม 9 กองทุน 

โดยกองทุนประเภทตราสารทุน ยังแบ่งออกเป็น 2 กลยุทธ์การบริหารกองทุน คือ Active 27 กองทุน และ Passive 6 กองทุน ซึ่งในกองทุนประเภท Passive มีราบละเอียด ดังนี้
• จำนวน 5 กองทุนที่ใช้ดัชนี SET ESG Total Return Index และ 
• ​จำนวน 1 กองทุนที่ใช้ดัชนี SET 100 เป็นดัชนีชี้วัดของกองทุน

การจัดกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของ ThaiESG เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนของตนเองได้

จากรูปภาพที่ 1 กลยุทธ์การลงทุนแบบ Screening เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับกองทุน ThaiESG โดยจากทั้งหมด 53 กองทุน มีการใช้กลยุทธ์นี้ถึง 21 กองทุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการกองทุนยังคงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหลักทรัพย์ตามปัจจัย ESG ทั้งในเชิงบวก (Positive Screening) และเชิงลบ (Negative Screening) เพื่อบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน

ตัวอย่างของ Negative screening เช่น กองทุนมีนโยบายจะไม่ลงทุนหรือนำหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มมึนเมา ยาสูบ อาวุธสงคราม สื่อลามก และการพนัน โดยเกณฑ์การชี้วัดการเข้าข่ายการทำธุรกิจดังกล่าว กองทุนส่วนมากจะใช้เกณฑ์สัดส่วนรายได้ที่มีตั้งแต่มากกว่า 0 ไปจนถึง 20% เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนเป็นไปตามหลักการความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กลยุทธ์ ESG Integration หรือการผนวกปัจจัย ESG เข้าไปในกระบวนการตัดสินใจลงทุน ถูกใช้ใน 5 กองทุน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้จัดการกองทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัย ESG

รูปภาพที่ 1 จำนวนกองทุน ThaiESG แบ่งตามกลยุทธ์การลงทุน
Picture1.png ​
ที่มา: รวบรวมจากหนังสือชี้ชวนของ 53 กองทุน ThaiESG
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

ThaiESG ยังมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ/หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่มีลักษณะแตกต่างกัน จากทั้งหมด 42 กองทุนไม่รวมกองทุนประเภทตราสารหนี้ ดังรูปภาพที่ 2

• มีกว่า 24 กองทุน ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือความความยั่งยืนหรืออยู่ใน SET ESG Ratings 
• ​ขณะที่ 18 กองทุน มีการเจาะจงมากขึ้นโดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ SET ESG Ratings ในระดับมากกว่า BBB ขึ้นไป 

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลยังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ ESG scoring มาพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ ThaiESG ส่วนมากจึงเน้นไปที่วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน (Use of proceed) ในการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) และพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability–linked bond)

รูปภาพที่ 2 จำนวนกองทุน ThaiESG แบ่งตามนโยบายลงทุนในหุ้น SET และ mai​
Picture2.png

ที่มา: รวบรวมจากหนังสือชี้ชวนของ 42 กองทุน ThaiESG (ไม่รวมกองทุนประเภทตราสารหนี้)
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

รูปภาพที่ 3 แสดงสัดส่วนการจัดสรรการลงทุนใน 5 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรม (Top 5 Sector Allocation) ของ ThaiESG จำนวน 42 กองทุน (ไม่รวมกองทุนประเภทตราสารหนี้) 

โดยกลุ่มเทคโนโลยีได้รับความสนใจสูงสุด มีถึง 40 กองทุน ที่ถูกเลือกจัดสรรลงทุนในกลุ่มนี้ให้เป็นหนึ่งใน Top 5 ของการลงทุน รองลงมา ได้แก่
• กลุ่มทรัพยากรมี 39 กองทุน 
• กลุ่มบริการมี 38 กองทุน และ
• ​กลุ่มธุรกิจการเงินมี 37 กองทุน 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมมี 4 กองทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคมี 1 กองทุน สะท้อนถึงแนวโน้มการลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตในด้านเทคโนโลยีและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

รูปภาพที่ 3 จำนวนกองทุน ThaiESG แบ่งตามการจัดสรรการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก 
Picture3.png

ที่มา: รวบรวมจากหนังสือชี้ชวนของ 42 กองทุน ThaiESG (ไม่รวมกองทุนประเภทตราสารหนี้)
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

กองทุน ThaiESG โอกาสสำหรับนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
ThaiESG ไม่เพียงเป็นแนวทางการลงทุนที่ตอบโจทย์กระแสความยั่งยืน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่ครอบคลุม ตั้งแต่ Screening ที่คัดเลือกหลักทรัพย์ตามมาตรฐาน ESG ไปจนถึง ESG Integration ที่ผสานปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้ากับการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน 

ThaiESG จึงเป็นมากกว่ากองทุน คือ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยปรับตัวสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม


ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกับ บลจ.กสิกรไทย ผ่านกองทุน ESG แนะนำ

1.กองทุนประเภท Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อความยั่งยืน อย่างพันธบัตรไทย ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนมากขึ้น

เพื่อเซฟภาษี K-ESGSI-ThaiESG รายละเอียด >Click<  

2.กองทุนผสมน้องใหม่ ลงทุนภายใต้แนวคิดแบบยั่งยืน มีการบาลานซ์สินทรัพย์ไปพร้อมกับการเติบโตในระยะยาว โดยกองทุนนี้จะเน้นลงทุนทั้งในตราสารหนี้ไทย และหุ้นภายในประเทศ

เพื่อเซฟภาษี K-BL30-ThaiESG รายละเอียด >Click<

3.เน้นลงทุนหุ้นไทย ที่มีเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่มาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้ใกล้เคียงดัชนี SET100 เป็นหลัก

เพื่อสะสมมูลค่า K-TNZ-A(A) รายละเอียด >Click<

เพื่อเซฟภาษี K-TNZ-ThaiESG รายละเอียด >Click<

สำหรับใครที่สนใจ ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทน และช่วยเซฟโลกอย่างยั่งยืน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ที่แอปฯ K-My Funds


คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

​ที่มาฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2568

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ไทยผลกระทบ PM2.5 มากสุดในโลก >>Click
ไฟป่า LA ภัยธรรมชาติและการรับมือ >>Click​
ทบทวนแผน NDC ในอาเซียน >>Click
Net Zero คืออะไร ทำไมต้องให้ความสำคัญ? >>Click
ร่าง พ.ร.บ. อากาศฯ แก้ไขวิกฤต PM2.5 >>Click​



Yes
3/27/2025
none