- ประเทศไทยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5
- สาเหตุปัญหามลพิษมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม การเผาในภาคเกษตรและพื้นที่ป่า
- ปัญหามลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอายุไขของคนไทยให้สั้นลง และมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 32,000 ราย/ปี
- มีการประมาณการว่าในปี 2558-2573 ภาคครัวเรือนและเกษตร ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของมลพิษ
- รัฐบาลดำเนินหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
- ประเทศไทยต้องการกฎหมายเฉพาะ ที่แก้ปัญหาได้จริงและยั่งยืน
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและฝุ่น
PM2.5
ความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญ
ประเทศไทยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 มากว่าทศวรรษ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ ซึ่งมักมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเป็นประจำ การสูดดม PM2.5 ในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอุดกั้น และมะเร็งปอด โดยจากรายงานของ Air Quality Life Index (AQLI) ในปี 2567 ระบุว่าหากไทยสามารถควบคุมค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ WHO แนะนำคือไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.6 ปี
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสถิติรูปภาพที่ 1 ของกรมควบคุมมลพิษพบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยภาพรวมของทั้งประเทศอยู่ที่ระดับ 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เกินระดับมาตรฐานตามที่ WHO แนะนำ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปีก่อนหน้า
ระดับมลพิษทางอากาศ เกินมาตรฐานในหลายจังหวัด
นอกจากนี้ ยังพบระดับของฝุ่นและก๊าซที่เป็นมลพิษทางอากาศประเภทอื่น ๆ เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยจังหวัดที่ประสบปัญหามากที่สุดคือพิษณุโลก กรุงเทพฯ สุโขทัย น่าน และมุกดาหาร สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในภาคเกษตรและพื้นที่ป่า รวมถึงการคมนาคมขนส่งที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศพร้อมควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราทุกคน
รูปภาพที่
1 จำนวนวันที่คุณภาพอากาศของไทยเกินค่ามาตรฐาน รายจังหวัด ในปี 2566

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาคครัวเรือนและเกษตร แหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น
PM2.5
ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
จากรายงานการประเมินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ฉบับปี 2566 โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิเคราะห์ระบบประยุกต์ (IIASA) และ UNEP พบว่ามีประชากรกว่า 660 ล้านคนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่ถูกประมาณการว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 32,000 รายต่อปีในประเทศไทย
จากรูปภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อย PM2.5 มากที่สุดตลอดช่วงเวลาที่ถูกประมาณการณ์ ค.ศ. 2015-2030 ได้แก่ ภาคครัวเรือนหรือที่อยู่อาศัย (เช่น การใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดเพื่อประกอบอาหาร) และภาคเกษตร ตามลำดับ สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่าอากาศในภูมิภาคนี้ถ่ายเทได้น้อยและการเผาอ้อย ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุนและเวลา คือ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม
รูปภาพที่
2 ประมาณการระดับของฝุ่น PM2.5 รายอุตสาหกรรม ในภูมิภาคประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2558 – 2573 (ค.ศ. 2015-2030)
ที่มา: IIASA และ UNEP
มาตรการจัดการฝุ่น
PM
2.5 จากการเผาในภาคเกษตร
รัฐบาลได้ดำเนินหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 จากการเผาในภาคเกษตร โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง" พ.ศ. 2562-2567 ซึ่งครอบคลุมมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาและพื้นที่เสี่ยง การป้องกันและลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษด้วยการพัฒนาระบบ เครื่องมือ และกลไกในการบริหารจัดการต่าง ๆ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นการลดการเผาในไร่อ้อยผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานและการเผา การให้เงินช่วยเหลือสำหรับการตัดอ้อยส่วนที่ไม่ถูกไฟไหม้ (อ้อยสด) และการจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มองว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังคงมีช่องว่าง เช่น มาตรการเจาะจงเฉพาะการเผาอ้อยเท่านั้นไม่รวมไปถึงพืชชนิดอื่น โรงงานน้ำตาลยังคงสามารถรับซื้ออ้อยที่ถูกเผาได้ด้วยราคาปกติ มาตรการไม่ได้ครอบครอบคลุมเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งหมด และขาดกฎหมายเฉพาะรองรับ เป็นต้น
มาตรการจัดการฝุ่น
PM2.5 จากกิจกรรมอื่น ๆ
ปี 2567 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟาง และใบไม้ใบหญ้าแห้ง ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าชีวมวลพร้อมให้สิทธิพิเศษด้านภาษีและดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังผลักดันให้ใช้มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งเป็นมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะ ส่วนภาคการจราจร มีการเพิ่มการตรวจจับควันดำให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤต การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี จำกัดรถบรรทุกและรถโดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลดภาษีรถ EV และเพิ่มบทลงโทษสำหรับการเผาในพื้นที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
เชียงใหม่ติด
Top พื้นที่ค่าฝุ่น
PM2.5 เกินมาตรฐาน
ในขณะที่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานอยู่เป็นประจำ เมื่อเดือนเมษายนปี 2567 มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 84.1 – 224.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอัคคีภัยไฟป่า
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้ประกาศมาตรการเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ ครอบคลุมการบูรณาการทำงานของหลายหน่วยงาน เช่น เพิ่มการลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เสี่ยงลักลอบเผาป่า กำหนดเขตภัยพิบัติฉุกเฉินและให้ประชาชนในพื้นที่ WFH ตามความจำเป็น ตัดสิทธิช่วยเหลือเกษตรกรที่เผาพื้นที่เกษตร เพิ่มปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือในการดับไฟป่า รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชน สนับสนุนงบประมาณเร่งด่วน
ภาครัฐเจรจาประเทศเพื่อนบ้าน หวังลดฝุ่นควันข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ ภาครัฐยังมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาป่าและฝุ่นควันข้ามพรมแดน เนื่องจากตรวจพบจุดความร้อนจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรเป็นจำนวนมากดังรูปภาพที่ 3 จากเมียนมาร์และลาว โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
รูปภาพที่
3 จำนวนจุดความร้อนที่เกิดในภูมิภาคประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน ในปี 2561-2566 (ค.ศ. 2018-2023)

ที่มา: TDRI รวบรวมจาก วิษณุ อรรถวานิช และ ASEAN Specialised Meteorological Centre
จะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ปลายน้ำจนถึงต้นน้ำของแต่ละภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหายังเป็นการดำเนินการแบบช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เฉพาะเมื่อมีปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นผ่านการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินจากนั้นจึงบังคับใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบ
ความหวังลดฝุ่น
PM2.5
จากร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด
ร่าง พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ… (หรือร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด) ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2563 และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
ร่างกฎหมายนี้มีการกำหนดคณะกรรมการหลายชุดเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ รวมถึงมาตรการลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เช่น มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ และระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ การมี พ.ร.บ. หรือกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่น PM2.5 ตามข้างต้น ควรเป็นกฎหมายที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาได้จริงและยั่งยืน ไม่เพียงแต่บังคับใช้มาตรการลดผลกระทบระยะสั้นอย่างที่ผ่านมา พ.ร.บ. อากาศสะอาด ควรพิจารณาถึง เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมที่ไม่ต้องพึ่งพาการเผา หรือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และการพึ่งพาพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ การแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในระยะยาวแต่สร้างอนาคตที่มีอากาศสะอาดและสุขภาพที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน
ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกับ บลจ.กสิกรไทย ผ่านกองทุน ESG แนะนำ
1.กองทุนประเภท Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อความยั่งยืน อย่างพันธบัตรไทย ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนมากขึ้น
เพื่อเซฟภาษี K-ESGSI-ThaiESG รายละเอียด >Click<
2.เน้นลงทุนหุ้นไทย ที่มีเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่มาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้ใกล้เคียงดัชนี SET100 เป็นหลัก
เพื่อสะสมมูลค่า K-TNZ-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-TNZ-ThaiESG รายละเอียด >Click<
3.เน้นลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ตามแนวคิด ESG และมีโอกาสเติบโต เช่น Tesla เพิ่มกำลังการผลิตและสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเป้าหมาย และ TSMC ผลิตและส่งออกชิปสู่อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก
เพื่อสะสมมูลค่า K-CHANGE-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-CHANGE-SFF และ RMF รายละเอียด >Click<
4.กองทุนแรกในไทย ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจด้วยความยั่งยืน และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นใน 3 ธีมหลักได้แก่ พลังงาน พื้นดิน-มหาสมุทร และวัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือช่วยลดปัญหา Climate Change
เพื่อสะสมมูลค่า K-PLANET-A(A) รายละเอียด >Click<
เพื่อเซฟภาษี K-PLANET-RMF รายละเอียด >Click<
สำหรับใครที่สนใจ ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทน และช่วยเซฟโลกอย่างยั่งยืน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ที่แอปฯ K-My Funds
คำเตือน ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 11 ต.ค. 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายเปลี่ยนแปลงฯอากาศ ไทยพร้อมแค่ไหน? >>Click
วิกฤตสภาพอากาศ แผนพลังงานชาติต้องปรับ? >>Click
โลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศ อย่างไร? >>Click
เป้าหมาย Net Zero ไทย ไม่ไกลเกินเอื้อม >>Click
ได้เวลาลงทุนด้าน Climate Change >> Click
Food Waste ปัญหาที่ถูกมองข้ามของไทย >> Click