
Highlights
• ไฟป่าในลอสแองเจลิสที่เกิดจากสภาพอากาศแห้งและลมแรง ทำให้ไฟลุกลามครอบคลุมพื้นที่กว่า 125 ตร.กม.
• ผู้คนกว่าหลายแสนคนต้องอพยพและประเมินความเสียหาย อาจสูงถึง 1.79 - 1.97 ล้านล้านบาท
• ในอดีต ลอสแองเจลิสและเขตอื่นๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยเกิดไฟป่าหลายครั้ง จากอากาศที่แห้งและภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา
• ผู้ว่าการรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการหลากหลายเพื่อรับมือไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ นำ AI และโดรนมาตรวจจับและควบคุมสถานการณ์
• วิกฤตไฟป่าครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
• สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันภัยพิบัติ และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ไฟป่าครั้งใหญ่ในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดจากอะไร?
จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2025 ไฟป่าลอสแองเจลิสได้กลายเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่รุนแรง โดยเพลิงได้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 125 ตารางกิโลเมตร (หรือประมาณ 30,888 เอเคอร์) ส่งผลให้ประชาชนกว่า 180,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ขณะที่ยังมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย และสูญหายอีกหลายสิบคน (ข้อมูลจากสำนักข่าว CNN ณ วันที่ 15 มกราคม 2025) …บริษัทผู้ให้บริการด้านการพยากรณ์อากาศเชิงพาณิชย์ AccuWeather ได้ประเมินว่าความเสียหายรวมอาจอยู่ที่ 1.79 - 1.97 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5.2 - 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในไฟป่าที่มีค่าใช้จ่ายสูงในสหรัฐฯ
รูปภาพที่ 1 พื้นที่เกิดเหตุไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยปัจจุบันไฟป่าพาลิเซดส์ (Palisades fire) และไฟป่าอีตัน (Eaton fire) ในลอสแองเจลิสสร้างความเสียหายมากที่สุด
ที่มา: CBS News ข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคม 2025
จากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าว BBC ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเผยถึงสาเหตุของไฟป่าครั้งนี้ พบว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "Hydroclimate Whiplash" ซึ่งเปลี่ยนจากฝนตกหนักในปี 2024 สู่สภาพอากาศแห้งในปีถัดมา ทำให้พืชพรรณกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี เสริมด้วยลม "Santa Ana" ที่แรงและแห้ง ส่งสะเก็ดไฟลุกลามได้ไกลกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ภูมิประเทศและความเสี่ยงจากไฟป่า
ลอสแองเจลิส (Los Angeles หรือ L.A.) ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา และเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากนิวยอร์กซิตี้ (New York City) มีภูมิประเทศที่ประกอบด้วยหุบเขาและร่องเขา มีความลาดชันสูงและลมแรง โดย ดร. รอรี แฮดเดน (Rory Hadden) นักวิทยาศาสตร์ด้านอัคคีภัย มองว่าจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการลุกลามของไฟและการอพยพของคนในพื้นที่ก็ยากขึ้นเช่นกัน
ลอสแองเจลิสเคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หลายครั้ง ซึ่งเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยบางครั้งนำไปสู่การเกิดไฟป่า ข้อมูลของหน่วยงานรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีหน้าที่ป้องกันและดับไฟป่า (the California Department of Forestry and Fire Protection: CAL FIRE) ตามรูปภาพที่ 2 ลอสแองเจลิสมีจำนวนเหตุการณ์ไฟไหม้โดยเฉลี่ยค่อนข้างมากกว่าเขตอื่น ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และพบว่าแม้ในช่วงปี 2012 ถึง 2023 จำนวนเหตุการณ์ไฟไหม้ของลอสแองเจลิสมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2012 มีจำนวนเหตุการณ์สูงสุดที่ 202 ครั้ง และลดลงเหลือเพียง 82 ครั้งในปี 2023 อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้มีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก โดยในปี 2017 มีพื้นที่ได้รับความเสียหายสูงสุดถึง 23,872 เอเคอร์ ในขณะที่ปี 2023 มีพื้นที่ได้รับความเสียหายต่ำสุดเพียง 139 เอเคอร์ แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความรุนแรงของไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
รูปภาพที่ 2 จำนวนเหตุการณ์ไฟไหม้และพื้นที่ได้รับความเสียหายในเขตต่าง ๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงปี 2012-2023

ที่มา: Wildfire Activity Statistics report, CAL FIRE
หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุดข้างต้นสำรวจเฉพาะเขตที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ได้แก่ เคิร์น (Kern), ลอสแอนเจลิส (Los Angeles), มาริน (Marin), ออเรนจ์ (Orange), ซานตา บาร์บารา (Santa Barbara) และเวนทูรา (Ventura)
ในปี 2017 รัฐแคลิฟอร์เนียเผชิญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่
สำหรับลอสแองเจลิสหนึ่งในไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในเขตนี้ คือ ไฟป่าครีก (Creek Fire) ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง หน่วยงาน CAL FIRE รายงานว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 15,619 เอเคอร์ บ้านเรือนกว่า 81 หลังได้รับความเสียหาย และอีก 123 หลังถูกทำลายทั้งหมด …อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในปีเดียวกัน คือ ไฟป่าโทมัส (Thomas Fire) เกิดขึ้นในเขตซานตาบาร์บาราและเวนทูรา โดยไฟป่าครั้งนี้เผาทำลายพื้นที่กว่า 281,893 เอเคอร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านิวยอร์ก บรัสเซลส์ และปารีสรวมกัน
รูปภาพที่ 3 เปรียบเทียบพื้นที่ได้รับความเสียหายระหว่างไฟป่าโทมัส (ด้านซ้าย) และไฟป่าครีก (ด้านขวา) ในปี 2017
ที่มา: National Weather Service
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2017
ทั้งนี้ สาเหตุของไฟป่าในปี 2017 ไฟป่าครีกและไฟป่าโทมัส รวมถึงไฟป่าในปี 2025 อย่างไฟป่าพาลิเซดส์และไฟป่าอีตัน มีความคล้ายกัน โดยเริ่มจากสะเก็ดไฟ เช่น เกิดจากสายไฟ เสาไฟฟ้า หรือฟ้าผ่า จากนั้นด้วยสภาพภูมิอากาศที่แห้งและภูมิประเทศแบบหุบเขาของรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงทำให้สะเก็ดไฟเพียงเล็ก ๆ สามารถลุกลามจนกลายเป็นไฟป่ารุนแรงได้อย่างรวดเร็ว …เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและการจัดการเหตุไฟไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกันการรุกรามจนเกิดเป็นไฟป่าและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
มาตรการป้องกันไฟป่าของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย
ปัจจุบัน ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคือ นายเกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) จากพรรคเดโมแครตซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2019 และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2025 ท่านได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ทางการ “Governor Gavin Newsom” เกี่ยวกับแนวทางป้องกันไฟป่าของรัฐโดยลงทุนประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว …มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ CAL FIRE ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 10,741 คน และมีแผนจะรับเพิ่มอีก 2,400 ตำแหน่งภายใน 5 ปีข้างหน้า และยังมีการเสริมกำลังในการดับเพลิงทางอากาศด้วยการขยายฐานปฏิบัติการเพิ่มอีก 5 แห่ง พร้อมจัดหาเฮลิคอปเตอร์เพิ่ม 16 ลำ เครื่องบินลำเลียง C-130 จำนวน 7 ลำสำหรับการบรรทุกน้ำและสารดับไฟ รวมถึงเช่าเครื่องบินดับไฟป่าเพิ่มเติมอีก 24 ลำ
เทคโนโลยีป้องกันไฟป่า
รัฐแคลิฟอร์เนียมีการใช้โดรนเพื่อประเมินผลการควบคุมไฟป่า มีการใช้ AI ตรวจจับการเกิดไฟป่า รวมถึงพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูล “Fire Integrated Real-Time Intelligence System (FIRIS)” ช่วยแสดงแผนที่การเกิดไฟป่าแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถรายงานเหตุการณ์ไฟป่าและอัพเดทข้อมูลได้ทันเหตุการณ์ผ่านช่องทางของรัฐ https://www.fire.ca.gov/
California’s Wildfire and Forest Resilience Action Plan
นอกจากนี้ ระยะยาวยังมีวิธีจัดการป่าและที่ดินตามแผน California’s Wildfire and Forest Resilience Action Plan เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า ประกอบด้วย การลดเชื้อเพลิงที่เป็นฉนวนไฟ การเผาไฟที่ควบคุมได้หรือมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และการดูแลสุขภาพป่าเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากไฟป่า ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการต่าง ๆ และเผยแพร่ความคืบหน้าของแผนการดำเนินงานให้รับทราบ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ว่าเควินเขียนโดยสำนักข่าว The New York Times ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าในลอสแองเจลิสครั้งปัจจุบันเพราะส่งน้ำไปดับไฟป่าได้ไม่เพียงพอเนื่องจากต้องการเก็บน้ำไว้เพื่อปกป้องปลาเดลต้า (Delta Smelt) ซึ่งพบเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ …ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำได้ออกมาให้ความเห็นว่าแม้อ่างเก็บน้ำทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียมีเพียงพอ แต่การจัดการน้ำในพื้นที่นั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากมีลมที่แรงจนเกินไปทำให้เครื่องบินดับเพลิงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
เตรียมรับมือสถานการณ์ไฟป่าและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ณ วันที่ 24 มกราคม 2025 ไฟป่าในลอสแองเจลิสยังคงลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก …มีรายงาน World Risk Report 2024 และฐานข้อมูล EM-DAT (The International Disaster Database) ได้ประเมินว่าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ซึ่งการเกิดไฟป่าครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่าภัยพิบัติจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น …การเตรียมตัวรับมือและการมีแผนป้องกันที่มีประสิทธิภาพจึงสำคัญ
ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียกำลังเร่งพัฒนาความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติด้วยการใช้เทคโนโลยีและระบบการจัดการไฟป่าที่ทันสมัย ความมุ่งมั่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในอนาคตสำหรับแคลิฟอร์เนีย แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญแก่ประเทศอื่น ๆ ที่จะเผชิญกับภัยพิบัติจากไฟป่าในอนาคต
ที่มา: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทบทวนแผน NDC ในอาเซียน >>Click
Net Zero คืออะไร ทำไมต้องให้ความสำคัญ? >>Click
ร่าง พ.ร.บ. อากาศฯ แก้ไขวิกฤต PM2.5 >>Click
กฎหมายเปลี่ยนแปลงฯอากาศ ไทยพร้อมรึยัง? >>Click
วิกฤตสภาพอากาศ แผนพลังงานชาติต้องปรับ? >>Click