2/8/2024

กนง. มีมติคงดอกเบี้ยที่ 2.50% ในการประชุมนัดแรกของปีนี้

HIGHLIGHTS:
• กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% 
• การสื่อสารของ กนง. เปลี่ยนมุมมองจากที่เคยระบุว่า “เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง” ในการประชุมรอบก่อนหน้านี้ มาเป็น “มีทิศทางขยายตัวชะลอลง”
• จังหวะการปรับลดดอกเบี้ย คงขึ้นอยู่กับตัวเลขทิศทางเศรษฐกิจ และตัวเลขเงินเฟ้อในการประชุมแต่ละรอบซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง
• KAsset ยังคงมุมมองบวกต่อตลาดตราสารหนี้ไทย 

กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ในการประชุมนัดแรกของปีนี้ (7 ก.พ. 2567)

คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

การสื่อสารของกนง. เปลี่ยนมุมมอง จากที่เคยระบุว่า “เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง” ในการประชุมรอบก่อนหน้านี้ มาเป็น “มีทิศทางขยายตัวชะลอลง” 

โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปลายปี 2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า 

แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลง และคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3% โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

มุมมองการลงทุน ในตลาดตราสารหนี้ไทย ปี 2567
การเติบโตทางเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวแต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดเดิม ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายใน อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความหวังมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทที่ริบหรี่ และปัจจัยภายนอก เช่น อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจีน 

ซึ่งไทยพึ่งพาอย่างมากทั้งในแง่การส่งออกและการท่องเที่ยว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มีโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดีจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยคงขึ้นอยู่กับตัวเลขทิศทางเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในการประชุมแต่ละรอบซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง 

คำแนะนำการลงทุน 
บลจ.กสิกรไทย แนะนำให้ลงทุนในทั้งพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ภาคเอกชน จากอัตราผลตอบแทน (Yield) ที่อยู่ในระดับน่าสนใจ และมีโอกาสปรับลดลงอีกได้ ถ้ามีการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (ราคาตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น)

กองทุนแนะนำ
• ระยะสั้น กองทุน K-SF (ควรลงทุนอย่างน้อย 1-3 เดือน)
• ระยะกลาง กองทุน K-SFPLUS (ควรลงทุนอย่างน้อย 3-6 เดือน) 
• ระยะยาว กองทุน K-PLAN1 (ควรลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน)
• ระยะยาว กองทุน K-FIXEDPLUS (ควรลงทุนอย่างน้อย 1-1.5 ปี)

คำเตือน : 
กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน (ทั้งหมด/บางส่วน/ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง) ตามที่กำหนดในโครงการจัดการหรือหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุน ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ /  ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

บทความโดย KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย  
ข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2024  

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
Fed คงดอกเบี้ยตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของปี >>Click
เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ...แต่ไม่ชัดว่าเป็นครั้งสุดท้าย >>Click
สรุปสัญญาณ จากประชุม Politburo ของจีน >>Click
GDP จีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาด >>Click​


Yes
2/8/2024
0