4/26/2024

2024 US elections เส้นทางสู่การเป็น ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47

ตอนที่ 1 เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2567 นี้ ถือเป็นการเลือกตั้งที่ทั่วโลกต่างจับตามองมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความเปราะบางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อีกทั้งแนวคิดและทิศทางนโยบายที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรคใหญ่อย่างเดโมแครตและรีพับบลิกัน ทำให้นักลงทุนต่างจับตามองว่านายโดนัลด์ ทรัมป์จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหรือไม่ หรือนายโจ ไบเดน จะได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่สอง

ในครั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยจะมาสรุปกระบวนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47


การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด และมีกระบวนการอย่างไร ?

โดยทั่วไป การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี และในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พ.ย. 2567 ซึ่งระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคหลัก อันได้แก่ พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต โดยมีกระบวนการเลือกประธานาธิบดีที่ค่อนข้างซับซ้อน

เริ่มจากการเลือกตั้งขั้นต้นในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. ที่ในแต่ละมลรัฐจะมีการลงคะแนนของสมาชิกพรรค เพื่อเฟ้นหาผู้แทนของพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการลงพื้นที่หาเสียงของผู้แทนพรรค จนไปถึงวันเลือกตั้งที่ประชาชนจะออกมาลงคะแนนเสียง แต่ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นั้น จะถือว่าเป็นการลงคะแนนเพื่อเลือกคณะผู้เลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “Electoral College" ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่เป็นผู้เลือกประธานาธิบดีอีกที

“กล่าวคือประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือกประธานาธิบดีเองโดยตรง แต่จะเลือกคณะผู้เลือกตั้งที่จะทำหน้าที่ในการเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีต่อไป"

นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ในปีนี้ยังมีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฏร (สส. หรือ House of Representatives) และสมาชิกวุฒิสภา (สว. หรือ Senates) ด้วย ซึ่งสำหรับส.ส. จะทำการเลือกใหม่ทั้งหมด 435 ที่นั่ง ในทุกๆ 2 ปี ทำให้วาระของส.ส. สหรัฐฯ นั้นถือว่าสั้นกว่าประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ ขณะที่การเลือกตั้งสว. จะเป็นการเลือกตั้งใหม่ จำนวน 1 ใน 3 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง ในทุกๆ 6 ปี จึงทำให้

“ในทุกๆ  4 ปีที่สหรัฐฯ จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี จะมีการเลือกตั้งส.ส. และสว. ในปีเดียวกันด้วย ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อรูปแบบของรัฐสภาว่าจะเป็นแบบพรรคเดียวกันทั้งสองสภา หรือได้เสียงส่วนมากกันไปคนละสภา"


ผลการเลือกตั้งขั้นต้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเมษายน ได้มีการจัดเลือกตั้งขั้นต้นไปแล้วประมาณ 80% ของทั้งหมด โดยในปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ ที่ต้องรอผลการเลือกตั้งขั้นต้นในช่วงไตรมาส 2 ถึงจะมีความชัดเจนว่าใครจะได้เป็นผู้แทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

แต่ในครั้งนี้ ตลาดค่อนข้างคาดการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ คือการกลับมาชิงชัยกันอีกครั้งระหว่างนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์

ซึ่งทำให้ความผันผวนของตลาดทุนจากความไม่แน่นอนว่าใครจะมาเป็นผู้แทนพรรคลดลง

us_elections-pic1.png​​

Swing State คืออะไร ?

ทำไมถึงสำคัญกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ?

เป้าหมายของตัวแทนจากทั้งสองพรรคในการเป็นประธานาธิบดี คือการได้อย่างน้อย 270 เสียง หรือเกินกึ่งนึงของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดที่มีอยู่ 538 เสียง ซึ่งกระจายในแต่ละรัฐไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐนั้นๆ โดยทั้งสองพรรคจะมีฐานเสียงของตัวเองที่ค่อนข้างแน่นอนในบางรัฐ ดังนั้น ผลคะแนนจึงต้องมาวัดกัน

ในรัฐที่เป็น Swing State กล่าวคือเป็นรัฐที่พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันได้ชัยชนะสลับกันไปมา ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน

ได้แก่ Arizona Georgia Pennsylvania Michigan Nevada และ Wisconsin จึงไม่น่าแปลกใจที่แต่ละพรรคจะให้ความสนใจกับการหาเสียงในรัฐเหล่านี้ เพราะชัยชนะในรัฐเหล่านี้จะสามารถกำหนดผลเลือกตั้งได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ มีกติกาที่รัฐส่วนใหญ่ใช้กัน เรียกว่า Winner Takes All ​คือฝ่ายใดได้คะแนนเสียงมากกว่าในรัฐนั้น ก็จะสามารถกวาดจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้นไป และมีแค่เพียง 2 รัฐเท่านั้นที่ใช้การจัดสรรจำนวนคณะผู้เลือกตั้งตามคะแนนเสียงที่ได้รับ

 

ปัจจุบัน ผลสำรวจบ่งชี้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์กำลังมีคะแนนนำหน้านายโจ ไบเดนอยู่ใน Swing State จึงทำให้ดูเหมือนว่า ณ ตอนนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสสูงกว่าที่จะคว้าชัย แต่ระหว่างนี้ คะแนนนิยมยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

และนอกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีแล้ว อย่างที่เรากล่าวไปตอนต้น ว่าต้องดูผลของการเลือกตั้งส.ส. และสว. ด้วย เพราะจะเป็นตัวกำหนดหน้าตาของรัฐสภา และมีผลต่อการออกนโยบายต่างๆ ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

 

สำหรับในบทความถัดไป เราจะมาพูดถึงแนวทางนโยบายของทั้งสองพรรค ที่นักลงทุนต่างจับตาเนื่องจากมีผลต่อความผันผวนในตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ

 

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

 ​

บทความโดย KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2567

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

ประเมินสถานการณ์ สงครามอิหร่าน-อิสราเอล >>Click

กนง. มีมติคงดอกเบี้ยต่อ 2.50% >>Click
เป้าหมาย Net Zero ไทย ไม่ไกลเกินเอื้อม >>Click

อินเดียขึ้นเเท่นที่สุดในโลก  >>Click


​​​

Yes
4/26/2024
none