9/13/2024

2024 US elections ทรัมป์ vs แฮร์ริส มองต่างมุมนโยบาย Climate Change​

​ตอนที่ 5 : ทรัมป์ vs แฮร์ริส มองต่างมุมนโยบาย Climate Change

ผ่านไปแล้วกับการดีเบตเป็นครั้งแรกระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และกมลา แฮร์ริส และอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะถึงวันชี้ชะตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งจากผลโพลล่าสุด คะแนนนิยมของกมลา แฮร์ริสดูเหมือนว่าจะมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งศึกครั้งนี้ใครจะเป็นผู้ชนะนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน และจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้งก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ในบทความเลือกตั้งสหรัฐ ตอนที่ 5 นี้ จะขอพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั้ง แฮร์ริสและทรัมป์ มีมุมมองแตกต่างกันอย่างมาก"

ท่ามกลางภูมิอากาศในช่วงฤดูร้อนปีนี้ที่ร้อนทำลายสถิติอุณภูมิสูงสุดในหลายเมืองของสหรัฐฯ เช่น ลาสเวกัสที่อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 48.9 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ซึ่งในการดีเบตครั้งนี้ ก็มีการพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย แต่ ณ ตอนนี้เองทั้งทรัมป์และแฮร์ริสยังไม่ได้มีการกล่าวถึงแผนนโยบายด้านพลังงานและการรับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน สิ่งที่เราพอจะนำมาวิเคราห์ได้ถึงทิศทางนโยบายก็จะมาจากแนวความคิดของทั้งสองฝ่ายในอดีต

กมลา แฮร์ริส ผู้มุ่งมั่นหนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แฮร์ริสถือเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง"

ตั้งแต่ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโกในปี 2005 ก็ได้ก่อตั้งหน่วยงานความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในแห่งแรกๆ ของสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม

ต่อมาในฐานะอัยการสูงสุดแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียช่วงปี 2011-2017 แฮร์ริสได้ตัดสินคดีความเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายคดี อาทิ ในปี 2015 แฮร์ริสได้ดำเนินคดีกับบริษัทท่อส่งน้ำมันเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว และในปี 2016 ได้สอบสวนบริษัท ExxonMobil ในประเด็นบิดเบือนข้อมูลแก่ความเสี่ยงของบริษัทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่เป็นวุฒิสมาชิก แฮร์ริสเองก็ให้การสนับสนุนข้อเสนอ Green New Deal หรือนโยบายแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก" และตอนที่เป็นรองประธานาธิบดีในปี 2022 แฮร์ริสก็เป็นผู้ที่ลงคะแนนเสียงชี้ขาด ทำให้วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 50 ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการใช้งบประมาณขนาดใหญ่เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาวด้วย อย่างการให้สิทธิลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงชีวิตการทำงานของแฮร์ริส สะท้อนแนวความเชื่อของเธอว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ" รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของแฮร์ริสจึงมีแนวโน้มจะยังคงบังคับใช้ และขยายกฎหมายที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ซึ่งจะเอื้อต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสะอาด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการนำกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาใช้อาจสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจพลังงานแบบดั้งเดิมได้"

เมื่อเปรียบเทียบกับทรัมป์ ผู้ซึ่งไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นโยบายด้านพลังงานของทรัมป์มีความแตกต่างในวิสัยทัศน์กับแฮร์ริสอย่างสิ้นเชิง โดยทรัมป์คือผู้ที่ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติแรกที่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเคยแสดงความกังขาว่าโลกร้อนมีจริงหรือไม่ รวมถึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า โลกกำลังร้อนขึ้นเพราะการเผาไหม้ของเชื้อพลิงฟอสซิล 

ทรัมป์จึงมุ่งเน้นที่การเพิ่มการผลิตพลังงานภายในประเทศ และลดข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการใช้พลังงานจากฟอสซิล"

เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยมีเป้าหมายเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น ท่อส่งน้ำมัน Keystone XL

นอกจากนี้ ทรัมป์ได้ลดข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กฎเกณฑ์ของ EPA (Environmental Protection Agency) ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษและการควบคุมการใช้พลังงานของโรงงาน ซึ่งมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีความเป็นอิสระทางพลังงานมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า นโยบายของทรัมป์ช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนและขยายกิจการในอุตสาหกรรมพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ" โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจะได้รับประโยชน์จากการลดข้อบังคับ

แต่ในทางกลับกันนโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและการจัดการสิ่งแวดล้อม" โดยอาจทำให้พลังงานจากฟอสซิลมีราคาต่ำลง ลดความสนใจของบางประเทศในการลงทุนในพลังงานสะอาด รวมถึงการลดความต้องการใช้แผงโซล่าร์ และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกแผงโซล่าร์จากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของเรา นอกจากนี้ อาจทำให้การพัฒนาและการขยายตัวของรถไฟฟ้าในสหรัฐฯ ชะลอตัวลงด้วย แต่คาดว่าตลาดรถไฟฟ้าในประเทศอื่น ๆ อย่างจีน ยุโรป และประเทศที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดยังคงเป็นโอกาสของตลาดรถไฟฟ้าจากไทย

อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี คาดว่าการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมเป็นพลังสะอาดจะชะลอลง แต่น่าจะยังไม่ถึงขั้นทำให้การเปลี่ยนผ่านหยุดชะงักไปเลย เนื่องจากปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเริ่มถูกลง และบรรดาบริษัทต่างๆ ก็มองเห็นว่า การตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้บริษัทเองก็ได้ประโยชน์ในระยะยาวด้วย

ผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้

KAsset มักจะเน้นย้ำในบทความก่อนหน้านี้ ว่าการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนโดยอิงจากผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องยากมาก นักลงทุนไม่อาจพิจารณาว่าควรปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรในปีเลือกตั้งตามความคาดหวังด้านนโยบายเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ประธานาธิบดีไบเดนหนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยการออกกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ในปี 2022 เมื่อพิจารณาแล้ว เราจะคาดว่าหุ้นพลังงานแบบดั้งเดิมจะได้รับผลกระทบเชิงลบ ขณะที่ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนจะปรับตัวสูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีของไบเดนจนถึงสิ้นปี 2023 ดัชนี S&P 500 ในกลุ่ม Energy เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ในขณะที่ดัชนี S&P 500 Global Clean Energy ลดลงถึง -50%

ในทางกลับกัน ช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานแบบดั้งเดิม และอนุมัติสัญญาเช่าสำหรับการขุดเจาะในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ดัชนี S&P 500 Energy กลับลดลงถึง -40% ส่วนดัชนี S&P 500 Global Clean Energy เพิ่มขึ้น 275% ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้งในปี 2020

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า แม้ประธานาธิบดีทั้งสองสมัยจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน แต่ผลของราคาหุ้นกลับเป็นในทิศทางที่ตรงกันข้าม"

การพุ่งสูงขึ้นของหุ้นพลังงานสะอาดในช่วงการบริหารของทรัมป์เกิดจากความกระตือรือร้นของธุรกิจในนวัตกรรมพลังงานสะอาด บวกกับเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษหนุนธุรกิจให้ลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น และกระแสการลงทุน ESG ที่มากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงโควิดยังทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ โดยร่วงลงมาอยู่ที่ 11.57 ดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน 2020 ทำให้กำไรของภาคพลังงานลดลง

ต่อมาในช่วงของประธานาธิบดีไบเดน การพุ่งสูงขึ้นของหุ้นพลังงานแบบดั้งเดิมเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดมากกว่าการดำเนินการตามนโยบาย โดยราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2021 จากนั้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 33% ในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานแบบดั้งเดิมมีกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนมีจำกัด ทำให้ราคาหุ้นพลังงานสะอาดที่เคยเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงก่อนหน้าหยุดชะงัก

ผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มพลังงานในสหรัฐฯ และพลังงานสะอาดทั่วโลก (100= 20 Jan 2017)

energy-and-global_clean-index.png

ที่มา: J.P. Morgan Asset Management

​โดยสรุปแล้ว แม้ว่านักลงทุนอาจรู้สึกอยากลงทุนโดยพิจารณาจากว่าใครจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็มักจะมีความสำคัญต่อแนวโน้มราคาหุ้นมากกว่า ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเน้นพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานและภาพรวมของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

“KAsset จึงยังคงแนะนำให้การกระจายความเสี่ยงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเลือกตั้ง"

 

โดยลงทุนในธุรกิจและสินทรัพย์ที่หลากหลาย เนื่องจากแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจมีผลกระทบต่อหุ้นพลังงานสะอาด แต่การลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังคงมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ส่วนการลงทุนในหุ้นพลังงานแบบดั้งเดิมก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อราคาพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“การกระจายความเสี่ยงและการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจะช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดจากการเลือกตั้งและนโยบายด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

 

บทความโดย

คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, Chief Investment Officer. บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ย. 2567

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จากโจ ไบเดน …สู่ กมลา แฮร์ริส  >>Click

สงครามการค้า กลับมาร้อนระอุ อีกครั้ง?  >>Click

จับตานโยบายการคลังสหรัฐฯ >>Click

เส้นทางสู่การเป็น ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 >>Click

จัดพอร์ต Core-Satellite ไม่ใช่เรื่องยาก >>Click


Yes
9/13/2024
none